รำลึก คุณเฉลียว สุวรรณกิตติ อดีตผู้บริหารซีพีปูชนียบุคคลคนหนึ่งของซีพี ผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการโทรคมนาคมซีพี

แม้ คุณเฉลียว สุวรรณกิตติ อดีตรองประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์เปเรชั่น จะเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2555 ด้วยวัย 83 ปี หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต

แต่คุณเฉลียว สุวรรณกิตติ ถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการโทรคมนาคมตั้งแต่เป็นบริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด มาจนถึงปัจจุบันเป็น บริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น และเป็นผู้ริเริ่มความคิดในการนำเครือเจริญโภคภัณฑ์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการผลักดันให้เครือฯ เข้าร่วมประมูลโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย จนได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ คุณเฉลียวเข้ามาร่วมงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2522 โดยรับผิดชอบกิจการธุรกิจการค้าสากลซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินการขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันกิจการธุรกิจการค้าสากลของเครือฯได้เติบโตเป็นกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่มี บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด เป็นบริษัทหลักในการดำเนินกิจการ

คุณเฉลียว เป็นผู้บริหารซีพี ผ่านชีวิตการต้องสู้กับปัญหามานับครั้งไม่ถ้วน ท่านจบบัญชี จุฬาฯแล้วไปต่อMBAที่อินเดียน่า กลับมาเป็นอาจารย์ที่บัญชี จุฬาฯจนมาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เติบโต จนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การ ร.ส.พ. และมาเป็นผู้อำนวยการ (ก่อตั้ง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เคยทำกิจการเรือขนส่งสินค้าของครอบครัว และทำธนสถาปนา ซึ่งเป็นVenture Capitalแห่งแรกของเมืองไทย

คุณเฉลียวถือเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการโทรคมนาคมของซีพีตั้งแต่เป็นบริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด มาจนถึงปัจจุบันเป็น บริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น และเป็นผู้ริเริ่มความคิดในการนำเครือเจริญโภคภัณฑ์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการผลักดันให้เครือฯ เข้าร่วมประมูลโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย จนได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

ปี2538 คุณเฉลียวเจ็บป่วยเกิดป่วยเป็นโรค STROKE หรือ เส้นเลือดในสมองตีบ

อาการป่วยของคุณเฉลียวเริ่มต้นในบ่ายวันอาทิตย์วันหนึ่งในปี 2538 ซึ่งเป็นวันที่คุณเฉลียวขับรถไปทอดผ้าป่าที่จังหวัดอยุธยากับลูกสาว หลังจากเสร็จภารกิจในการทำบุญก็ขับรถบ่ายหน้ากลับกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวบินไปพม่ากับหอการค้าไทยในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเวลานั้นคุณเฉลียวรับหน้าที่เป็นทั้งกรรมการและเลขาธิการของหอการค้าไทยด้วย

“ตามปกติแล้วผมมักจะเป็นคนขับรถเอง เพราะถือว่าเป็นการพักผ่อนชนิดหนึ่ง แต่วันนั้นกลับรู้สึกง่วงอย่างผิดปกติ ก็แข็งใจขับรถกลับมาบ้านและขึ้นไปนอน จนกระทั่งไปจนเช้าก็ยังไม่ลุกไปสนามบิน ที่บ้านก็เลยพามาส่งที่โรงพยาบาล ความรู้สึกตอนนั้น รู้สึกว่าแขนขาอ่อนแรงไปเป็นลำดับ หมอเอาดินสอมาให้กำ ก็กำไม่ถนัด เซ็นหนังสือก็ไม่เหมือนเก่า”

ถึงแม้อาการป่วยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณเฉลียวอย่างมาก แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ให้กับโรคภัยไข้เจ็บ หลังจากหยุดพักรักษาตัวถึง 8 เดือนเต็ม คุณเฉลียวก็เริ่มกลับมาทำงานที่บริษัทเทเลคอมเอเซียอีกครั้ง ในตำแหน่งของรองประธานกรรมการบริษัท

“คนอื่นที่เป็นโรคนี้อาจจะหลบหนีจากสังคมไปเลย แต่สำหรับผมแล้ว ผมเป็นคนทำงานมาตลอดไม่เคยหยุด เจอกับปัญหามาตลอดชีวิต เมื่อหายป่วย ผมก็เริ่มออกนอกบ้านและกลับมาทำงานอีกครั้ง”คุณเฉลียวเคยกล่าวไว้

และแม้ว่าอาการของคุณเฉลียวดีขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่ต้องนั่งรถเข็น เริ่มเดินได้บ้าง โดยใช้ไม้เท้าช่วยพยุง แต่ด้วยสุขภาพที่ไม่สามารถเดินเหินได้ตามปกติเหมือนเมื่อก่อน คุณเฉลียวก็ต้องยุติการเป็นนักบุกเบิกลง

อย่างไรก็ตาม คุณเฉลียวเป็นผู้บริหารซีพีที่รักและทุ่มเทต่อการทำงาน งานยังคงเป็นชีวิตจิตใจของท่าน และแม้ว่าโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมายจะเริ่มอยู่ตัว ผ่านพ้นช่วงเริ่มต้นไปสู่ช่วงของการติดตั้ง แต่คุณเฉลียวก็ยังคงสนุกกับการเดินหน้าหาโครงการใหม่ๆ มาป้อนให้กับทีเอ ไม่ว่าจะเป็นเคเบิล ทีวี หรือโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

การเริ่มต้นธุรกิจโทรคมนาคมก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของซีพี ที่มาจากแนวคิดของท่าน ที่เริ่มเห็นแนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมที่กำลังมาแรง

“ช่วงนั้นธุรกิจที่ให้กำไรมากที่สุดคือ โทรคมนาคม ทั้งโลกเลยเขาบอกเป็นยุคของโทรคมนาคม ถ้าคุณมีอินเตอร์เน็ต คุณไม่ใช้โทรคมนาคมไม่ได้”

ในทัศนะของคุณเฉลียวแล้ว การไร้ประสบการณ์หรือความรู้ในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ใช่อุปสรรคของการทำโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำโครงการลักษณะนี้ คือ เป็นเรื่องการจัดการเรื่องการลงทุน การรู้จักหาแหล่งเงินกู้ และแหล่งที่จะซื้ออุปกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ซีพีมีความชำนาญเป็นอย่างดี

แม้แต่การตัดสินใจนำเอาเคเบิลใยแก้วนำแสงมาใช้ในการวางโครงข่ายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย แทนที่จะเป็นสายทองแดง ซึ่งในขณะนั้นท่านเองก็ไม่คิดว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะทำให้ซีพีกลายเป็นเจ้าของซุปเปอร์ไฮเวย์ ที่ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงบริการเสริมในรูปแบบต่างๆ ที่จะมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในยุคหน้า

คุณเฉลียวเคยให้สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์ ที่ไม่ใช่ระดับบนอย่างเดียว แต่ต้องทำทุกขั้นตอนทุกระดับ

“ตอนที่จะวางโครงข่ายข้างนอก เรามีทางเลือก 2 ทาง แบบแรก คือวางโครงข่ายแบบอนุรักษนิยมแบบเก่าซึ่งมีราคาถูก อีกแบบใช้ไฟเบอร์ออพติก แต่เราเลือกกลยุทธ์ของเราคือ ใช้ไฟเบอร์ออพติก ตอนนั้นเรามองว่าใช้เนื้อที่น้อย เราใช้ท่อเก่าองค์การโทรศัพท์ยังใช้ได้เลย เรามองแค่นั้นเอง เรามองแคบๆ หลายอย่าง แต่ว่าสิ่งที่เราไม่ได้มองลึกซึ้งก็กลับเป็นเรื่องที่ดีในภายหลัง คือว่า มันเป็นสะพานข้ามไอทีสมัยใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีไฟเบอร์ออพติกทำไม่ได้”

คุณเฉลียวเคยแนะนำว่าการข่าวก็เป็นสิ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ เมื่อครั้งช่วงเริ่มทำโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ก่อนหน้าที่ทีเอจะตัดสินใจเลือกไนเน็กซ์ให้มาร่วมทุน ทีเอเคยเลือกบริษัทบริติชเทเลคอม (บีที) ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของโลกให้มาร่วมลงทุนในโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย

“ก่อนหน้าที่กระทรวงคมนาคมจะเปิดประมูลโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย มีบริษัทเบลจากอเมริกา และบีที เสนอตัวมาที่รัฐบาลไทยขอติดตั้งโทรศัพท์ เราจับข่าวได้ว่า บีทีทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างดี ถึงกับเช่าออฟฟิศอยู่ในนี้ ตัวเลขผลศึกษาทุกอย่างเขามีหมด สำหรับเราแล้วสำคัญมาก เพราะเวลาที่ทำการประมูลจะไม่ยาวมาก ขืนเราไปหาตัวเลขเองก็ตายแน่ เราจึงต้องหาพาร์ตเนอร์ และบีทีก็เหมาะ สมที่สุด การทำงานลักษณะนี้ การข่าวเราต้องเยี่ยม”

ท่านเคยเล่าถึงเมื่อครั้งบินไปเจรจาการร่วมทุนกับบีทีที่ประเทศอังกฤษ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการมองปัญหาและโอกาสอย่างลึกซึ้ง

“วันที่ไปอังกฤษ ระหว่างนั่งดูทีวีอยู่ในห้องในโรงแรม รอเจ้าหน้าที่ของบีทีมารับไปที่บริษัท ปรากฏว่าทีวีออกข่าวเกี่ยวกับปัญหาภายในของบีที ประธานกับผู้จัดการทะเลาะกัน ประธานลาออกไป เลื่อนตัวผู้จัดการใหญ่ขึ้นมาแทน พอไปบริษัท ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ของบีทีว่า พวกคุณรู้หรือเปล่านายคุณลาออกทะเลาะกัน ผู้ใหญ่ที่จะมาเจรจากับผม หายไปเลย ทิ้งผมไว้กับเลขาตั้งแต่เช้าเลย”

ระหว่างนั้นเอง ท่านก็ตัดสินใจโทรศัพท์มาที่เมืองไทย เพื่อขออนุญาตประธานธนินท์เซ็นสัญญร่วมทุนกับบีที เพราะสิ่งที่ท่านพบก็คือ นอกจากบีทีจะเก่งมากในเรื่องโทรศัพท์พื้นฐาน เพราะทำมาสิบล้านเลขหมายแล้ว สิ่งสำคัญคือบีทีกำลังยุ่งกับกิจการภายใน ทีเอจึงไม่ต้องกลัวว่าบีทีจะมาฮุบกิจการ

เพราะก่อนหน้านั้น สัญญาข้อหนึ่งที่ทีเอจะเซ็นกับบีที ระบุไว้ว่า บีที จะต้องมาถือหุ้นไม่เกิน 30% แต่ทีเอไม่ต้องการให้เข้ามาถือหุ้นมากเกิน 10% ทั้งสองจึงไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งเมื่อบีทีเกิดปัญหาภายในขึ้น ข้อตกลงดังกล่าวก็ได้ข้อสรุปทันที โดยบีทียอมตัดสัญญาข้อนี้ทิ้ง และเปลี่ยนใหม่เป็นว่า บีทีจะมาช่วยและขอค่าที่ปรึกษา ส่วนจะถือหุ้นเท่าไหร่นั้นก็เป็นสิทธิของบีทีแต่ไม่เกิน 10%

แม้ว่าในระยะต่อมาพันธมิตรธุรกิจของทีเอจะเป็นไนเน็กซ์ของอเมริกา ไม่ใช่บริติชเทเลคอมที่ถอนตัวไปในที่สุด เพราะมีนโยบายต้องการลดการลงทุนในต่างประเทศลง แต่นั่นก็คือส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์ที่ท่าน นำมาใช้ตลอดเวลาของการบุกเบิกธุรกิจ

คุณเฉลียวเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาสื่อมวลชน สื่อมวลชนคนหนึ่งเล่าว่าท่านเป็นนักเล่าเรื่อง ความจำดี เล่าสนุก พูดเรื่องยากให้เข้าใจง่าย มีอารมณ์ขันและมีมุขหักมุม แต่ก็พูดจาสุภาพ รู้จักคนมาก แม้จะไม่ได้เป็นวิศวกรแต่ท่านเข้าใจเรื่องธุรกิจโทรคมนาคมอย่างทะลุปุโปร่ง เป็นคนทันสมัย มีความสนใจกว้างขวางและมีความเป็นนักคิดที่เข้าใจปัญหาสังคมอย่างลึกซึ้ง

นอกจากนี้ท่านยังเขียนหนังสือชื่อว่า “สูตรลับเศรษฐี” โดยใช้นามปากกาว่า ปัญญลักษณ์ สุวรรณ หนังสือมีหลักการเป็นเศรษฐีอย่างครบถ้วน มีศิลปะการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ จัดหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ตามขั้นตอน

ซึ่งเป็นหนังสือเรื่องยาวเล่มแรกที่กลั่นจากประสบการณ์ทั้งชีวิต

อะไรทำให้เศรษฐีแต่ละคนประสบความสำเร็จ สิ่งที่ควรถามต่อไปก็คือ มีคุณสมบัติอะไรที่ทำให้เศรษฐีดูพิเศษเหนือมนุษย์ จากการรวบรวมสถิติที่คล้ายคลึงกัน ท่านพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จจะมี 12 คุณสมบัติโดดเด่นกว่าคนทั่วไปคือ

1.เป็นคนเก่งรอบตัว 2.เป็นผู้รู้จักใช้โอกาสของชีวิตได้อย่างเต็มที่ 3.มีวิสัยทัศน์และลางสังหรณ์ 4. มีนิสัยเรียนรู้และชอบศึกษาโดยไม่จำกัด 5.มีลักษณะผู้นำ 6.มีศิลปะและรู้จักใช้เทคนิคของทฤษฎีหน้าหนาใจดำ

7. รู้จักเลือกพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุนอย่างถูกต้องและถูกจังหวะ 8.มีความสามารถในการสร้างเครือข่ายใย 9.สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสทุกกรณี 10.ช่างคิดและช่างทำ เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ 11.รู้ค่าของเงิน และ 12.มีดวงดีและมีทัศนคติที่ดี

ความเก่งรอบตัวจะต้องครบเครื่องทั้ง เก่งตน (คิดเก่ง พูดเก่ง เขียนเก่ง ฟังเก่ง และจดจำดี) เก่งคน (คนที่ห้อมล้อมตัวได้แก่ คนชั้นบน คนระดับเดียวกัน คนระดับล่าง) และเก่งงาน (เรียนรู้งานได้เร็ว มองงานในมุมกว้าง ทำงานเป็น และทำด้วยใจรัก)

ท่านเล่าว่า คนที่ก้าวสู่ความเป็นอภิมหาเศรษฐี หนึ่งในคุณสมบัติที่พิเศษคือ สามารถนำเอาโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ไปพัฒนาต่อยอดได้ ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้ ไม่ใช่เพียงแค่รอหามันเท่านั้น

“ต้องสร้างสัญชาตญาณให้สามารถจับโอกาส แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ยิ่งกว่านั้นต้องรู้จักสร้างโอกาสให้เป็นนิสัย แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆซึ่งวันหนึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่”

ผู้นำกับวิสัยทัศน์มักจะแยกกันไม่ออก และผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีคือ ผู้ที่สามารถมองเห็นการณ์ไกล คาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ตรงนี้เรียกว่า ลางสังหรณ์

“ต้องหัดฝึกฝนรวบรวมข้อมูลปัจจุบัน วิเคราะห์ให้เกิดเป็นภาพในอนาคต จนเกิดเป็นนิสัยกลายเป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ดี ไม่มีวิธีอื่น ต้องอาศัยเวลาและความอดทนฝึกฝน” ท่านแนะวิธีสะสมวิสัยทัศน์แบบหยอดกระปุก

ปริญญาไม่ได้เป็นหลักประกันว่าต้องประสบความสำเร็จในชีวิต แต่การใฝ่รู้อย่างไม่หยุดยั้งตะหากที่เป็นใบรับประกันความสำเร็จตลอดชีพ

ท่านชี้ว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบ เศรษฐีหลายคนที่ติดอันดับโลก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช้เวลาอ่านหนังสือไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตด้วยแล้ว อินเทอร์เน็ตถือเป็นคลังความรู้ สำหรับคนซึ่งต้องการความก้าวหน้าในชีวิตจะละเลยไม่ได้

คุณสมบัติหนึ่งของผู้นำทั่วโลกที่เหมือนกันคือ มีความสามารถในการเป็นผู้นำ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่า ผู้นำทางธุรกิจต้องมี 3 คุณสมบัติสำคัญคือ 1.มีความสามารถในด้าน Creativity มีความคิดสร้างสรรค์ แปลงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้ 2.มีความสามารถในการกำหนด Strategy ค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่าอย่างไร เพื่อดำเนินการสู่เป้าหมาย 3.สามารถสร้างให้เกิดสภาวะ Connectivity เชื่อมโยงจุดต่างๆ เพื่อให้สัญญาณเดินครบวงจรจึงจะเกิดผล

แม้วันนี้ท่านจะจากพวกเราชาวซีพีไปแล้ว แต่สิ่งที่ท่านได้ริเริ่ม บุกเบิก สร้างสรรค์ไว้ในซีพี คนซีพียังระลึกถึงและเรียนรู้แนวคิด วิธีคิด วิธีการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน องค์กร

นิตยสารผู้จัดการ 2541,สูตรลับเศรษฐี