#จบโทมาเป็นสัตวบาลฟาร์มสีคิ้ว
คุณสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส /อดีต ประธานกลุ่มธุรกิจสุกร ซีพีเอฟบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเข้ามาทำงานในซีพีพร้อมกับประสบการณ์ที่ยาวนานกับการมีส่วนร่วมบุกเบิกกิจการสุกรของซีพีจนมาเป็นสายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟให้กับคณะทำงานด้านContent 100 ปีซีพีว่า
เริ่มเข้ามาทำงานที่ซีพี เมื่อเดือนกันยายน2518 หลังจากจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มต้นทำงานที่ฟาร์มสีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกรพันธุ์แท้หรือGGP ทำหน้าที่ช่วยปรับปรุงพันธุ์ มีดร.โทมัส เจที หยูหรือดร.หยีเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ไต้หวัน โดยคุณสมควรเริ่มต้นงานเป็นสัตวบาล พักอาศัย กินนอนอยู่ในฟาร์ม สมัยนั้นทำงานกัน7วัน ยุคนั้นที่ฟาร์มสีคิ้วมีหน่วยงานโรงฟักลูกไก่ หน่วยงานไก่พันธุ์และหน่วยงานสุกรอยู่ด้วยกัน รวมกว่า200คน ทำให้คนทำงานมีความสนิทสนมและใช้ชีวิตร่วมกัน
#ซีพีทุ่มเทพัฒนาสายพันธุ์สุกร
คุณสมควรเล่าว่าก่อนที่จะเข้ามาทำงานที่ฟาร์มสีคิ้ว ทราบว่าท่านประธานอาวุโสให้ความสำคัญกับกิจการสุกรโดยนำเข้าสุกรพันธุ์จากอเมริกา แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วมาจากทางฮอลแลนด์ ท่านนำเข้ามาเป็นพันธุ์แท้เลย เวลานั้นยังไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆที่ทำด้านสุกรนัก โดยเฉพาะทางยุโรปจะเป็นสหกรณ์ เข้าใจว่าน่าจะเป็นการสั่งซื้อจากกลุ่มสหกรณ์มากกว่า ถือว่าซีพีเราเริ่มธุรกิจสุกรใกล้เคียงกับในต่างประเทศ เพียงแต่ธุรกิจสุกรใน50ปีก่อน ตลาดยังเล็กมากและผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เลี้ยงรายย่อย เลี้ยงตัวสองตัวเลี้ยงด้วยเศษอาหาร การเลี้ยงสุกรเกือบทั้งประเทศไม่มีต้นทุน
“แต่ผมมองว่าเป็นการมองการณ์ไกลของท่านประธานอาวุโส สมัยนั้นเราเอาพันธุ์ดีๆมาเพื่อจะสร้างแล้วสร้างโรงเรือนดีๆ แล้วเราก็ขายพันธุ์สัตว์และคนที่ซื้อพันธุ์สัตว์จากซีพี1ตัว 2 ตัว ซื้อพ่อพันธุ์ไปรับจ้างผสมเทียม จูงไปผสมแม่พันธุ์ ผู้เลี้ยงรายย่อยก็ไปผสมพันธุ์สุกร เพื่อจะยกระดับคุณภาพของสุกรให้ดีขึ้น สมัยนั้นกรมปศุสัตว์ก็ทำหน้าที่ผสมเทียม บริษัทซีพีก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน”
คุณสมควรอธิบายว่าถ้าพันธุ์สุกรถูกปรับไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตลาดการขายอาหารสัตว์ก็จะดีขึ้นด้วย แต่ถ้าไม่มีสุกรพันธุ์ดีๆ เป็นพันธุ์พื้นเมือง ตลาดก็จะเล็กมาก ผู้เลี้ยงก็ไม่ต้องซื้ออาหารสัตว์ซีพีก็ทำหน้าที่ยกระดับพันธุ์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขยายพันธุ์ให้ดีขึ้นเท่ากับขยายตลาดอาหารสัตว์ให้โตขึ้นขยายตลาดพันธุ์สัตว์ให้ดีขึ้น
“สมัยนั้นท่านประธานอาวุโสเป็นคนตัดสินใจทำฟาร์ม จ้างผู้เชี่ยวชาญคือดร.หยี เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมู ท่านเป็นอดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์จากไต้หวัน สมัยนั้นนานๆท่านจะมาครั้งจนกระทั่งออกจากราชการมาทำงานเต็มเวลาและมาช่วยพัฒนาธุรกิจสุกรของไทยมาเป็นเวลานาน”
คุณสมควรเล่าว่าจากากตำแหน่งสัตวบาล 2 ปี จากนั้นก็ขึ้นเป็นผู้จัดการฟาร์ม ดร.หยีท่านก็มองว่าสุกรจะเหมือนกับไก่ที่ต้องไปเอาพันธุ์จากต่างประเทศ ฝรั่งเก่งกว่าอย่างอาเบอร์เอเคอร์ก็สำเร็จไปหมด พยายามไปเอาพันธุ์ลูกผสมมาจากฮอลแลนด์ เบลเยี่ยมตอนหลังก็เอามาจากอเมริกา ประมาณ 3-4พันธุ์เอามาทดสอบ แรกๆก็เป็นสุกรไฮบริดจ์จากเบลเยี่ยม เอาพันธุ์ไฮโปรมาจากฮอลแลนด์ สร้างฟาร์ม700แม่สำหรับที่พนัสถือว่าเป็นการลงทุนใหญ่ เพราะสุกรเวลามา มาเครื่องบินเป็นเครื่องใหญ่กว่าลูกไก่ ลูกไก่มากล่องกระดาษ ตัวเล็กๆ สุกรมานี่ต้องมาแบบกรงไม้ กรงไม้ก็หนักและยังมีถาดรองมูลรองฉี่ หนักกว่ากันมาก ต้นทุนขนส่งแพงกว่า เพราะต้องเหมาลำเครื่องบินมา ราคาFOB หน้าฟาร์มอาจจะไม่แพงเท่าไหร่แต่ต้องมาเจอจ่ายค่าขนส่งจากฟาร์มกว่าจะถึงสยามบิน ถ่ายขึ้นเครื่องบิน กว่าจะบินมา พอบินมาถึงกรมปศุสัตว์ต้องกักโรค ต้องเช็คเชื้อตรวจโรคอีกต้องรอ30วัน เป็นเดือน ต้องไม่มีโรคอะไร ถึงจะนำเข้ามาได้
เพราะฉะนั้นการทำเข้าสุกรจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะนำเข้าสุกรเพียวไลน์ ท่านประธานอาวุโสมองว่าถ้าเราจะลงทุนทำเองเราจะสู้ฝรั่งได้ ก็นำเข้าจากเบลเยี่ยมมา ไฮโปรจากฮอลแลนด์ PICPig จากอเมริกา เป็นเบอร์หนึ่งของโลกและดีคาล์บจากอเมริกา ทดลองอยู่หลายปี ขณะที่ทดสอบ ก็ขายพันธุ์ไปในตลาด ผลก็ปรากฏว่ายังไม่ฟิตกับเมืองไทยสุกรไม่เหมือนกับ ไก่ ไก่สามารถแอพพลายไปทั่วโลก แต่สุกรไม่ ชนะในประเทศนี้พอข้ามไปอีกประเทศอาจจะไม่ชนะ
เพราะคิดว่าวิธีทานเนื้อสุกรไม่เหมือนกัน อย่างฮอลแลนด์จะนิยมแฮมใหญ่ บั้นท้ายใหญ่ ฮอลแลนด์จะทานฝ่านเป็นแผ่นบางๆแก้มเบียร์ หรือญี่ปุ่นชอบทานนุ่มอร่อยมีมันแทรกนิดๆ ถ้าไขมันแทรกในเนื้อแดงสูงเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงต้องไม่สูง อย่างของไทยก็เอาไปต้ม ไปผัด ก็เป็นพัฒนาการที่ว่าสุกรพันธุ์ต่างๆสำเร็จในที่หนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จอีกที่หนึ่ง มันแตกต่างกัน จนทุกวันนี้ก็เป็นแบบนี้ อันนี้ก็เป็นที่มาที่ไปของการที่เราทำพันธุ์ของเราเอง โดยมีเพียวไลน์ ซีพีทำพันธุ์ก็ไปดูข้างนอกเค้ามีอะไรดีกว่าเราไหม ถ้าดีก็รับนำเข้ามาปรับปรุงไม่นั้นสู้คนอื่นไม่ได้
คุณสมควรเล่าอีกว่านอกจากพันธุ์แล้วยังต้องเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดี เรื่องของอุณหภูมิที่เหมาะสม เรื่องการป้องกันโรค อาหารที่ดี การจัดการที่ดี ก็เหมือนข้าวโพดพันธุ์ดี น้ำต้องดี ปุ๋ยเพียงพอ
“เพราะฉะนั้นจะเห็นพัฒนาการจากที่ซีพีเราปรับปรุงสายพันธุ์เองโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแลมาเป็นการนำเข้าสายพันธุ์ที่ดีจากต่างประเทศ ท่านประธานอาวุโสก็ให้แนวคิดในการมองระดับโลก ท่านมองระดับโลกมานานหลายสิบปีแล้ว พันธุ์ที่นิยมก็จะมีแลนด์เรซลาร์จไวท์ ดูรอคเจอร์ซี่ เพราะฉะนั้นกิจการสุกรของซีพีมีทั้งปรุงปรุงสายพันธุ์เอง นำพันธุ์จากทั่วโลกมาศึกษา เรื่องการพัฒนาพันธุ์ถือเป็นหน้าที่ของเรา เกษตรกรจะทำเรื่องพันธุ์ค่อนข้างยากเพราะต้องลงทุนมาก เรื่องงานวิจัย การปรับปรุงสายพันธุ์จึงเป็นบทบาทที่ซีพีทำ ส่วนการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นไก่หรือ
#20ปีแรกบุกเบิกพัฒนา 20ปีหลังก้าวกระโดด
“ตลาดสุกรเติบโตช้ากว่าไก่และมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศก็ล้วนเป็นปัจจัยให้กิจการสุกรพัฒนาเติบโตช้ากว่าไก่ อย่างสัตว์ปีกมีแม่แบบพันธุ์ที่สำเร็จในประเทศหนึ่งก็ไปสำเร็จในประเทศอื่นๆไก่ก็เลยไปได้เร็ว ขยายได้มากแต่สุกรไม่ได้เป็นแบบไก่ ชนิดของสุกร พันธุ์ของสุกรสำเร็จที่หนึ่งแต่อาจจะไปใช้อีกประเทศหนึ่งไม่ได้”คุณสมควรกล่าว
“อีกอย่างที่แตกต่างกันคือสุกร แม้พยายามที่จะหาAutomationทำ เทียบกับไก่ เป็ดสุกรทำได้น้อยกว่า สุกรต้องเรคคอร์ดเป็นตัวๆเลย เป็นแม่ๆ สมมุติว่าฟาร์มนี้มี6พันแม่เท่ากับมี6พันชื่อ แล้วคีย์เข้าคอม ไม่ให้ซ้ำกันเป็นตัวๆและต้องมีประวัติการออกลูกครั้งแรกกี่ตัว ตัวผู้กี่ตัว ตัวเมียกี่ตัว วัคซีนเมื่อไหร่และให้อาหารก็ต้องเป็นแต่ละตัว แม้จะมีระบบให้อาหาร จะต้องให้อาหารเท่าไหร่แต่ละตัวต้องใช้สายตาคนมองความอ้วนผอมดูการอุ้มท้องต้องกินอาหารเท่าไหร่ ต้องตั้งโปรแกรมแล้วถึงจะออโต้ ต้องใช้คนไปตั้งหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อให้น้ำหนักแรกเกิดของลูกสุกรพอดีๆให้ความอ้วนผอมพอดีๆ เช็คการเป็นสัด ตกไข่พร้อมผสมพันธุ์ ทุกๆ21วัน “
“ณ วันนี้ ก็พยายามใช้หุ่นยนต์มาจับ ใช้กล้องจับอาการดิ้น แบบนั้นแบบนี้ก็มีความพยายามใช้แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ทุกวันนี้ยังใช้คนอยู่ บางทีก็ใช้พ่อสุกร พ่อสุกรมีกลิ่นตัวผู้อยู่ เอาพ่อสุกรเดินหน้าแล้วคนคอยสังเกตอาการ ถ้าพ่อสุกรเดินผ่าน ดูตัวเมียนิ่งไหมหรือมีอาการหลังแข็ง มีปฏิกิริยาตอบสนองไหม หรือแม้แต่การจะคัดทิ้งแม่หมูก็ต้องทำแบบวันบายวัน ดูแต่ละแม่ต้องมีเกณฑ์อย่างไร ต้องมีการคัดทิ้งตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ก็ต้องหามาทดแทนเพราะฉะนั้น เรื่องสุกรจะมีความละเอียดอ่อนมาก ไม่เหมือนไก่ที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เป็นแบบALL In ALL Out”
อะไรคือปัญหาอุปสรรคที่กิจการสุกรประสบพบเจอ คุณสมควรเล่าว่า ถ้าพูดถึงความยากลำบากอาจจะอยู่ประมาณ20ปีแรก ไม่ค่อยดี กำไรน้อย ขาดทุนมาก เพียงแต่ว่าขนาดของกิจการตอนนั้นยังไม่ใหญ่ เราพลิกโฉมขึ้นมาก็ประมาณ20ปีหลัง
“เวลานั้นอาจจะยังไม่พร้อมทั้งที่ท่านประธานอาวุโสให้โอกาสมาก เอาฝรั่งมาที่ฟาร์มมาสอน ตอนนั้น30-40ปีที่แล้วอาจจะเร็วไป ตอนนั้นผู้เลี้ยงรายย่อยเต็มอุตสาหกรรม ที่ยุโรปก็เป็นผู้เลี้ยงรายย่อยเหมือนกันแต่สหกรณ์เค้าแข็งแรง แต่ฤดูกาล ภูมิอากาศไม่เหมือนกัน มีบางอย่างเค้าเก่งบางอย่างก็ไม่เก่ง แต่เราไม่เก่งเราไม่สามารถหยิบเอาข้อดีของเค้ามาใช้ได้ อันนี้เป็นความไม่พร้อมในอดีตและเราปรับปรุงพัฒนาตลอด20ปีก็ด้วยทีมงานที่ช่วยกันฟันฝ่า
แต่ละช่วงๆมาได้ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทและเน้นเรื่องวิจัยเราวิจัย ทดลองสารพัด ผมบอกว่าทุกฟาร์มให้เป็นฟาร์มทดลอง ทุกฟาร์มเป็นฟาร์มทดลอง สามารถทดลองได้หมด การที่เราทดลองอะไรมากๆก็จะได้ประโยชน์ แต่ทุกๆ2ปีจะมี Big Jump เจอชิ้นใหญ่อยู่ชิ้นหนึ่ง ทุกๆ 2-3ปี ถ้าเราขยันทำR&Dเยอะๆเราจะได้ความรู้มากมาย การก้าวกระโดดเราไม่ได้บอกว่าผลงานเราดี แต่มันบ่งบอกว่าผลงานนั้นจะต้องขยายไปทั้งประเทศ ต้องขยายไปถึงลูกค้าด้วยถึงจะพิสูจน์ความสำเร็จ ไม่ใช่บอกว่าเราดีและทำอยู่คนเดียว ไม่ใช่ เป็นงานที่ดีจริงต้องเปลี่ยนทั้งหมดรวมทั้งในต่างประเทศที่จะตามเราและลูกค้าเปลี่ยนตามเรา”
คุณสมควรกล่าวอีกว่าจากความสำเร็จในประเทศไทย กิจการสุกรได้ไปลง ทุนในหลายประเทศเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย แคนาดาอเมริกา
“เวียดนามบริโภคสุกร 20กิโลกรัมต่อคนต่อปี ไทย14-15กิโลกรัมต่อคนต่อปี พลเมืองเวียดนาม 90กว่าล้าน ของไทย 60กว่าล้านและมีแนวโน้มไม่เพิ่มและอายุเฉลี่ยของคนไทย เข้าสู่ผู้สูงวัย แต่เวียดนามยังมีประชากรเด็กและหนุ่มสาวที่กำลังกินกำลังนอนมากตลาดใหญ่ และคู่แข่งขันเป็นรายย่อยมาก ฉะนั้นโอกาสทำกำไร มองจากนี้ไป 5ปี 10ปีถือได้ว่าเวียดนามดีมาก ประกอบกับผู้เลี้ยงเวียดนามเป็นรายย่อยมาเจอโรคAFSไม่สามารถป้องกันได้จนต้องเลิกกิจการไปจำนวนมาก เกิดช่องว่างมหาศาลสำหรับรายใหญ่ที่จะขยาย แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงสูงเหมือนกันเพราะโรคนี้ไม่มียารักษา แต่ก็เป็นโอกาสเพราะเมื่อเสียหายมากก็จะชดเชยด้วยราคาที่พุ่งสูงขึ้นมาก กิโลกรัมละ150บาท แพงเป็น 2เท่า กำไรเป็น 2 เท่า เราก็ต้องบริหารความเสี่ยงนี้ให้ได้ เพราะไวรัสตัวนี้คงทนมาก ตายยากไม่หายไปจากแถวนี้”
“ส่วนฟิลิปปินส์ผมคิดว่าเริ่มขยายตัวมากขึ้นแล้ว ราคาก็ดีมาก กำไรก็ดี ฟิลิปปินส์ประชากรเพิ่ม ปีหนึ่งคนเพิ่มอย่างน้อย 2ล้านคน อายุเฉลี่ยของคนก็ต่ำจึงบริโภคเนื้อมาก ผัก ผลไม้ไม่ค่อยกินกินแต่เนื้อ ผู้หญิงจะมีแนวโน้มอ้วน ฟิลิปปินส์โอกาสระยะยาวดี”
“ส่วนรัสเซีย ก่อนนั้นขาดแคลนมาก มีการแซงชั่นจากยุโรป จากอเมริกา สุกรไม่พอกินรัฐบาลไฟเขียวให้สร้างฟาร์มและมีเงินช่วยเหลือ ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เวลา10ปี เร่งผลิต จนเวลานี้มีปริมาณพอเพียง ไก่ก็เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เค้าจึงเชิญซีพีเราเข้าไปลงทุน และเราไปซื้อธุรกิจไปด้วยดี วัตถุดิบในรัสเซียถูกมาก ทำให้ต้นทุนถูก”
#หมูซีพีกับการสร้างสรรค์สังคม
คุณสมควรกล่าวถึงความรู้สึกถึงความภูมิใจที่กิจการสุกรมีต่อสังคมไทยว่าพูดถึงธุรกิจสุกรในภาพรวม ถือว่ามาตรฐานการเลี้ยงสุกรของไทยค่อนข้างดี แข็งแรงนำโดยบริษัทใหญ่ๆ อย่างซีพีโดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ คนไทยได้ทานสุกรที่มีคุณภาพ ส่วนชุมชนเนื่องจากฟาร์มสุกรของซีพีเป็นฺ Biogas เกือบ100% สมัยก่อนไม่มีการทำ Biogas กลิ่นจะเหม็นมาก และถ้าอยู่บริเวณฟาร์มจะมีแมลงวันเยอะมากถ้าไม่มี Biogas การที่เรามีโนฮาวในเรื่องของ Biogas ช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนรอบฟาร์มอย่างมกหาศาล แมลงวันมีน้อย
เพราะแมลงวันไม่มีทางเกิดเพราะไม่มีที่วางไข่ในอุจาระ ปัสสาวะ นอกจากนี้ยังเกิดการจ้างงาน และการมีโรงฆ่าขึ้นมา เราไปช่วยปรับปรุงระบบโรงฆ่าของเทศบาลทำให้มีความสะอาด ถูกสุขอนามัยมากขึ้น สุกรชำแหละอยู่ในอุณหภูมิที่อุ่นและเป็นแบบปิดชิลด์ ทำให้แบคทีเรีย เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต ความสะอาดมีมากขึ้น รวมทั้งรถขนส่งสุกร ขนส่งด้วยรถเย็น วางขายในตู้เย็น และ 3ปีมานี้ ซีพีเอฟเป็นตัวช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้มาก เราทำไปมากคนอื่นไล่ตามหลัง มีการขายอยู่ในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น”
#ประทับใจปธอ. มองการณ์ไกลและให้โอกาสกับพนักงาน
“ผมอยู่ซีพี46ปี มีความประทับใจเครือ คือประธานอาวุโส มองการณ์ไกลและให้โอกาสกับพนักงาน ให้โอกาสกับผู้บริหาร เพราะฉะนั้นในช่วงที่บริษัทเติบโต พนักงานก็มีโอกาสเติบโต มีตำแหน่ง มีความก้าวหน้า ช่วงหลังเครือมีการซื้อกิจการ ควบกิจการทำให้การเติบโตก้าวกระโดด 4-5ปี มานี้ก้าวกระโดดมาก แต่ธุรกิจสุกร เติบโตมาเรื่อยๆ เรายังมีโอกาสด้านการแข่งขันด้วยปัจจัยด้านการพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยการบริหารจัดการ การดูแลคนให้ดี เพราะออโตเมชั่นน้อย ขึ้นอยู่ที่คน ธุรกิจจะดีถ้าดูแลคนดี “
#ฝากข้อคิด 6 ค่านิยมซีพี ให้อยู่ในสายเลือดคนซีพี
ในโอกาสเครือซีพีเข้าสู่ 100 ปี คุณสมควรฝากข้อคิดว่า
“ผมได้ยินประธานอาวุโสพูดถึงเรื่องค่านิยม ผมอยากให้มีการใช้6ค่านิยมจริงๆและอย่างกว้างขวางจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ตัวอย่างการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เหมือนงานวิจัยทำวิจัยไหม ถ้าคุณไม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถ้าไม่วิจัยเยอะๆก็มีแต่ค่าใช้จ่ายบริหารที่สูงถ้าวิจัยเยอะก็เพิ่มประสิทธิภาพได้ และก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าไม่วิจัยมากๆไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ถ้าคุณทดลอง วิจัยคุณจะเห็นทางที่ดีกว่า สปีดก็ตามมา อยู่ๆไม่มีวิจัยแล้วจะหวังสปีด และต้องมีการทดสอบทดลอง ผมคิดว่า6ค่านิยมต้องทำอย่างจริงจังและกลมกลืนไปกับงาน เราอาจจะวิจัยตลาด เรื่องใกล้ตัว ไม่จำเป็นต้องไปสร้างฟาร์มทดลองแพงๆฟาร์มทุกฟาร์มสามารถทำวิจัยได้หมด 6ค่านิยมต้องโฟกัสให้อยู่ในสายเลือดจริงๆ เริ่มจากในประเทศไทย สร้างให้เป็นวัฒนธรรม เริ่มจากผู้นำทุกคน ตอนแรกๆผมก็ฟังแล้วเฉยๆแต่ตอนหลังจำและนำมาใช้พูดกับทีมงานในแต่ละข้อกับงานที่ทีมงานทำกันก็ช่วยขับเคลื่อนได้มาก ผมว่า 6ค่านิยมนี้ดี”