ท่านประธานประเสริฐ พุ่งกุมาร รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์การทำงานในเครือฯกับคณะทำงานด้านContent 100 ปีซีพีว่า ท่านเป็นคนเมืองกาญจนบุรีแล้วย้ายมาอยู่ที่นครปฐม คุณพ่อของท่านประกอบอาชีพค้าคุณพ่อของท่านชราภาพและเสียชีวิต จากนั้นท่านกับคุณแม่ พี่สาวและน้องชายอีกคนก็ย้ายมาอยู่ที่เจียไต๋ ประมาณ 13ขวบ
ตอนอยู่ที่ร้านเจียไต๋ ท่านได้ช่วยบรรจุสินค้าเมล็ดพันธุ์ใส่ซองที่มีการปั้มวันที่ด้วย เพราะถ้าเลยจากวันที่ระบุไว้จะเพาะปลูกไม่ได้ ขึ้นไม่ดี ก็เลยต้องบอกให้รู้ ต่อมาเจียไต๋มีการใช้เครื่องหมายการค้า”ตราเรือบิน”จากนั้นมาก็ค่อยๆเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากซองเป็นกระป๋อง เพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ เพราะกระป๋องจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีเพราะถ้าเป็นซองความชื้นยังเข้าไปได้หรือการปนปลอมก็จะทำได้ง่าย ถ้าเป็นกระป๋องแกะออกมากระป๋องก็ถูกใช้แล้วยากที่จะทำเลียนแบบ
ท่านประธานประเสริฐเล่าถึงบรรยากาศของร้านเจียไต๋ยุคอดีตว่าตอนนั้นท่านชนม์เจริญ (1ในผู้ก่อตั้งร้านเจียไต๋)จะอยู่ร้านประจำแล้วมีหลงจู๊หรือผู้จัดการร้าน ร้านเจียไต๋เป็นห้องแถว4ชั้น โดยชั้น 4 จะมีลานตากเพราะเมล็ดพันธุ์ที่มาจากเมืองจีนจะมีความชื้นก็ต้องเอามาตากบนดาดฟ้า ตากเสร็จแล้ว กลางคืนก็จะมีพวกลูกหลานมาช่วยกันนำเมล็ดพันธุ์ใส่ซอง เวลานั้นเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากจีนและจากในประเทศด้วย ที่ซื้อมาจากเมล็ดคุณภาพที่ดี แล้วเราก็เอามาตาก ก่อนนำไปบรรจุซอง ช่วงเวลานั้นลูกหลานก็ยังอยู่ในวัยเรียนกัน จากการค้าเมล็ดพันธุ์ ต่อมาก็มีการจำหน่ายปุ๋ยเพิ่มมา โดยท่านอยู่ที่เจียไต๋ราว 5-6ปี
“จากนั้นท่านประธานจรัญ เจียรวนนท์ก็มาเปิดร้านอาหารสัตว์ชื่อร้านเจริญโภคภัณฑ์ เจริญโภคภัณฑ์ มีการขายวัตถุดิบเริ่มต้น นอกจากขายหน้าร้านแล้วก็มีส่งไปต่างจังหวัด ตอนแรกๆเปิดร้านก็มีคุณจรัสก่อน ตอนหลังผมจึงจะเข้ามาอยู่ร้านเจริญโภคภัณฑ์ เพราะตอนนั้นกิจการอาหารสัตว์ก็มีการขยาย ต้องการคนมาช่วย ซึ่งก่อนหน้านั้นในวงการก็มีร้านขายวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยี่ห้อ “รวงทอง” กับ”สตางค์” เก่าแก่ก็มีอยู่2เจ้า ซีพีก็เป็นรายที่ 3 ผมมาอยู่ที่ซีพีแล้วก็อยู่มาจนถึงปัจจุบัน เจียไต๋ก็ไม่ได้กลับไป”
“ตอนนั้นผมก็มาอยู่หน้าร้านด้วย ส่งของด้วย ไปส่งของก็ต้องเอาเรือมารับที่ปากน้ำมีท่าเรือ แล้วก็ท่าเตียนก็ไปส่งประจำ ตอนนั้นมีทั้งอ่างทองเอย ผักไห่ อยุธยา ลูกค้าแถวนั้นก็มาก แล้วที่อ่างทอง ป่าโมกก็มีลูกค้า ไปทางน้ำ ตอนนั้นก็เอาวัตถุดิบมาผสม ลูกค้าจะให้ผสมเราก็ผสมให้ แต่หลักของซีพีคือขายวัตถุดิบ เช่นข้าวโพด กากถั่ว ปลาป่น ใบกระถิน ขายแยกเป็นส่วนไปเลย แต่ถ้าลูกค้าต้องการจะให้ผสมก็ยินดี แต่หลักยังเน้นขายวัตถุดิบ พวกวัตถุดิบก็มาทางแม่น้ำ แต่ถ้าเป็นกากถั่วก็มาจากแถวตรอกจันทน์ ใช้เครื่องแบบโบราณออกมาเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แล้วก็ให้เค้าบดมา ส่วนปลาป่นซื้อมาแล้วก็ไปจ้างบด เพราะซีพียังไม่มีโรงงาน ตากเสร็จก็ไปจำหน่าย ตอนนั้นใช้ปลาเป็นตัว และเพื่อไม่ให้เสีย ก็ต้องใช้เกลือมาก พอเกลือมากก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ และวัตถุดิบก็ไม่ใช่ปลาป่นล้วน กากถั่วล้วน ยังต้องเอามาผสม ทั้งเอาเปลือกมะพร้าวมาบดผสมไปก็มี
ประธานประเสริฐเล่าว่าเวลานั้นระบบที่ทำอยู่ตอนนั้นท่านประธานจรัญ เจียรวนนท์กับท่านประธานมนตรี เจียรวนนท์เป็นผู้บริหารอยู่หลายปีจนประธานธนินท์กลับมาจากฮ่องกงมาอยู่สหสามัคคี ๆเป็นรายเดียวที่ส่งออกหมูไปฮ่องกง มีกำไรมาก ท่านประธานธนินท์เห็นว่าหมูส่งออกไปขายได้ ไก่ก็น่าจะส่งไปได้ก็เคยส่งไปเหมือนกันแต่ก็เสียหายเพราะต้องส่งทางเครื่องบิน นี่คือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่ว่าประธานธนินท์มีความคิดว่าถ้ายังขายวัตถุดิบไป คุณภาพไม่มีควบคุมไม่ได้ก็เกิดความคิดไปดูว่าต่างประเทศทำอย่างไร ตอนนั้นก็มีคนทำอาหารสำเร็จรูปออกมาก มีขายออกมา ก็เอามาดูว่าจะทำแบบนี้ ประธานธนินท์ก็ไปหาข้อมูล แล้วก็เช็คดูว่าไก่พันธุ์อะไรที่มีคุณภาพที่ดี ก็ไปศึกษาๆไปถึงรู้ว่าพันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์ ของอเมริกาดี
“เลือกไปเลือกมา ทดลองดูแล้วอาร์เบอร์เอเคอร์ดีกว่า ตอนนั้นซีพีเริ่มทำฟาร์มที่อ้อมน้อยซื้อไก่พันธุ์มาเป็นรุ่นพ่อแม่พันธุ์PSเอามาทดลองเลี้ยงดู ตอนนั้นประธานธนินท์ลงไปศึกษาเอง เลี้ยงเอง รวมทั้งหลังคาเปลี่ยนแล้วก็เปลี่ยนอีกจะทำอย่างไร เพราะทางอเมริกาอากาศหนาวมาถึงไทยเมืองอากาศร้อน ไก่ก็เสียหายจึงต้องหาทางแก้เรื่องอากาศให้มันระบายอย่างไรให้ได้มีคุณภาพขึ้นมา ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ประธานธนินท์ลงมาศึกษาเอง ตอนนั้นเมืองไทยเลี้ยงไก่เป็นพันธุ์พื้นเมืองหมด การเจริญเติบโตสู้ใม่ได้ แต่ถ้าเราจะเอาไก่เนื้อมาแล้วแข่งขันในตลาดเนื้อมันผิดกัน จะเปิดตลาดไก่เนื้อไม่ใช่ง่ายๆเหมือนกัน เพราะมันโตเร็ว ทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ตอนนั้นซีพีก็ค่อยๆทำ บุกเบิกตลาดมา”
“ต่อมาจึงมาตั้งเป็นโรงงานที่ตรอกจันทน์ซึ่งเดิมทีที่ตรอกจันทน์ เป็นบ้านของท่านชนม์เจริญเป็นที่ส่วนตัว แต่ก็มีที่เหลืออยู่ก็สร้างเป็นโกดังขึ้นมาก่อน ผมก็ตามมาอยู่ที่ตรอกจันทน์ อยู่ที่ตรอกจันทน์ ตอนอยู่ที่ตรอกจันทน์ทำงานกลางคืนด้วย ตอนนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ต้องส่งของไปทางน้ำ ก็ต้องมีรถบรรทุกขนไปที่ท่าเตียน แต่เวลากลับมาก็ต้องสองทุ่ม เพราะมีจำกัดเวลารถบรรทุกห้ามวิ่ง ผมกับคุณธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล รองประธานอาวุโสก็คอย ท่านประธานอาวุโสอยู่ก็มาคุยกัน มาประชุมกันว่าธุรกิจจะทำอย่างไร นำมาสู่การขยายกิจการ ทำอย่างไรให้ลูกไก่ของซีพีที่ออกมาให้ตลาดยอมรับรวมไปถึงไก่ตอนด้วย เพราะลูกค้าเราเลี้ยงไก่ตอนด้วย อยู่แถวบางบ่อแล้วก็ไปขยายไก่ตอนก็มีส่วนหนึ่ง ก็เลยมีทั้งไก่ตอน ไก่เนื้อ”
“ตอนนั้นไก่ของอาร์เบอร์เอเคอร์มีคุณภาพดี แต่การเอาไก่ที่เป็นPSหรือพ่อแม่พันธุ์เข้ามาก็แพง ต้นทุนการขนส่งและก็มีการเสียหาย ตอนหลังถึงได้มาคุยกับอาร์เบอร์เอเคอร์ว่ามาร่วมทุนกันแล้วมาเลี้ยงรุ่นปู่ย่าพันธุ์GPถ้าไม่ก็มาทำกับอาร์เบอร์เอเคอร์จนสำเร็จ”
ภายใต้การกำกับดูแลงานของท่านประธานประเสริฐทีมงานที่อยู่กับท่านจะพูดว่าเวลาท่านมาหรือประชุมจะต้องเตรียมพร้อมข้อมูลทั้งหมด ท่านจำได้หมด ท่านประธานประเสริฐเล่าว่าตอนนั้นเราทำงานกันไม่มีวันหยุด เสาร์อาทิตย์ก็จะไปตรวจเยี่ยมฟาร์ม ไม่ก็ต้องไปโรงงานอาหารสัตว์ ไม่ก็ต้องไปเยี่ยมลูกค้า
“ผมผูกพันกับลูกค้าเรียกว่าดีมากจนถึงวันนี้ผมก็ยังจัดเวลาไปเยี่ยมลูกค้าทางใต้บ้าง อีสาน เหนือบ้าง เราถือว่า ลูกค้าสำคัญที่สุดบางทีผมยังเปรียบเทียบลูกค้าก็เหมือนพ่อแม่ด้วยซ้ำ ถ้าเค้าต่อว่าอะไรมาเราต้องรับมาก่อนแล้วมาศึกษาดูว่ามันผิดมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ใช่ว่าลูกค้าต่อว่ามา ลูกค้าจะถูกทุกอย่าง แต่เราต้องรับมาก่อนแล้วเรามาดูอันไหนแก้ได้ ปรับปรุงได้เราต้องมาปรับปรุง แต่การงานที่จะสำเร็จผมอาจจะเป็นคนที่เรียกว่าทุ่มเทเวลาให้กับการงาน งานที่สั่งไปแล้วจะต้องสำเร็จ ผมก็ต้องไปติดตาม โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มผมก็ต้องไปติดตามดู ผลการเลี้ยงเป็นอย่างไร โรงชำแหละก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาผมไปดู ติดตามงานทุกคนก็ต้องเตรียมตัว”
ประธานประเสริฐย้อนเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ต้องถือว่าท่านประธานธนินท์หลังจากมาดูแลร้านเจริญโภคภัณฑ์จากท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรี ก็มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงจากค้าวัถุดิบอาหการสัตว์มาเป็นอาหารสำเร็จรูปกับหัวอาหาร และประธานธนินท์ไปเชิญดร.ชิงชัย โลหะวัฒนกุลมาเป็นผู้พัฒนาสูตรอาหารเพราะเรียนจบทางด้านเกี่ยวกับสูตรอาหาร โภชนาการ รู้ว่าสูตรนี้จะใช้วัถุดิบอะไร อย่างไรรวมทั้งต้องใช้ยาป้องกันตัวไหน แล้วค่อยมาชั่งพรีมิกซ์
“ประธานธนินท์ต้องลงไปชั่งเองด้วยพร้อมกับดร.ชิงชัย สำหรับผมทำทุกอย่างในร้าน ทำหมด ขายหน้าร้านก็ขาย ส่งของก็ส่งเพราะตอนนั้นคุณหญิงเอื้อช่วยอยู่หน้าร้าน ทุกคนช่วยกันหมด ทำกันได้ทั้งนั้น มีท่านประธานจรัญ ท่านประธานมนตรี คุณหญิงเอื้อปรานี ผมและมีเพื่อนของท่านมนตรีคุณแสง และต่อมาก็มีคนชื่อประเสริฐเหมือนกัน คุณแสง คุณประเสริฐตำแหน่งสูงกว่าผม แต่ตอนหลังคุณแสงก็ออกไปทำเอง คุณประเสริฐก็ออกไปทำธุรกิจอื่น ตอนนั้นก็มีคุณบรรจงอีกคนมาเป็นเซลล์ และก็มีคุณชิวเป็นหลานของคุณแสงแต่ตอนหลังก็ออกไปเหมือนกัน จากนั้นเราก็เริ่มรับคนรุ่นใหม่ๆเข้ามา ตอนนั้นเราต้องหาสัตวบาล จบปริญญาตรี ต้องมีพื้นฐานสัตวบาลจะได้รู้ว่าเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่เป็นอย่างไรที่จะช่วยดูแลลูกค้า คุยแนะนำลูกค้าได้”
ประธานประเสริฐเล่าว่าหลังจากเปิดร้านขายวัตถุดิบอาหารสัตว์ราว 5-6ปีจึงเริ่มทำเป็นอาหารสัตว์ ช่วงที่ประธานธนินท์เข้ามาดูแล มาศึกษาแล้วก็ค่อยๆมาเปลี่ยนแปลง มีหัวอาหาร อาหารสำเร็จรูป มีนักวิชาการเข้ามา แล้วก็ไปก่อตั้งโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกที่ตรอกจันน์ ที่เวลานั้นถือว่าอยู่ชานเมือง แต่ช่วงนั้นการคมนาคมก็มีอุปสรรคมาก ต้องใช้รถจิ๊ป ถนนเป็นดิน โดยซีพียังมีสำนักงานอยู่ที่ท่าน้ำสวัสดี ก่อนที่จะไปสร้างเป็นโรงงาน โดยก่อนหน้าก็มีการไปสร้างโกดังเก็บวัตถุดิบที่ตรอกจันทน์
“ที่โรงงานตรอกจันทน์ท่านประธานธนินท์มีการสั่งเครื่องผสมอาหารแบบนอนแบบกดปุ่มควบคุมได้ดีกว่ายี่ห้อบูเรอร์ ตัวมิกเซอร์เราก็เอาแบบที่ทันสมัยมา ทำให้ได้อาหารสัตว์คุณภาพที่ดี ทำให้ซีพีมีชื่อเสียงดีตอนนั้นก็มีออกผลิตภัณฑ์เป็นไฮโปรไวท์ เป็นอาหารไก่ ไฮโกรอาหารหมู พอเราเริ่มขายดีก็มีการแข่งขัน ก็เริ่มมีการออกสินค้าใหม่ๆออกมาเพิ่มเติม แล้วเราก็ริเริ่มมีเอเยนต์ ลูกค้าที่มาซื้อประจำและผูกพันกันก็มีการตั้งให้เป็นเอเยนต์”
จากความสำเร็จโรงงานอาหารสัตว์ที่ตรอกจันทน์ ทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ ทำให้เกิดความต้องการอาหารสัตว์ของซีพีจนเต็มกำลังผลิตจึงได้คิดที่จะขยายโรงงาน ประกอบกับโรงงานตรอกจันทน์มีปัญหา เดินกำลังผลิต 24ชั่วโมง ท่านประธานธนินท์เกรงว่าหากโรงงานเกิดความเสียหายก็จะกระทบต่อลูกค้า ต่อการขาย เลยตัดสินใจไปสร้างโรงงานอาหารสัตว์ที่กม.21 บนถนนบางนา-ตราดก็มีอุปสรรคไม่น้อย เพราะที่ตั้งโรงงานต่ำมาก ต้องตอกเสาเข็มลึกมาก ที่เลือกที่นี้เพราะการคมนาคมน่าจะดี
สำหรับโรงงานอาหารสัตว์ที่กม.21เป็นออโตเมติกหมด มีความทันสมัยมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากที่โรงงานตรอกจันทน์ เมื่อโรงงานอาหารสัตว์ที่กม.21กำลังผลิตเต็มต่อมาก็มีการขยายโรงงานไปที่ลำพูน ตามมาด้วยหาดใหญ่ พิษณุโลก ฯลฯตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศ
ท่านประธานประเสริฐถือเป็นซีอีโอท่านแรกของซีพีเอฟมีบทบาทในการบุกเบิก ขยายกิจการของซีพีเอฟทั้งเรื่องของกิจการอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้คุณอดิเรก ศรีประทักษ์
สิ่งที่น่าสนใจคือท่านประธานประเสริฐไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างที่ท่านทำเกิดจากประสบการณ์การทำงานล้วนๆ ท่านถูกฝึกจากการทำงานเป็นเถ้าแก่ ท่านรู้จักเรื่องของการค้า การดูแลลูกค้า การดูแลเรื่องของการผลิต การเลี้ยงสัตว์ เรื่องของโรงงาน เรื่องของบัญชีและเป็นคนที่ทำงานเก็บรายละเอียดอย่างดี แม้แต่เรื่องบัญชีท่านก็ไม่ได้เรียนมา แต่การดูแลตัวเลขมีความละเอียดซึ่งท่านบอกว่าอาจเป็นพรสวรรค์ของท่าน แม้แต่กิจการในต่างประเทศแม้จะไม้รู้เรื่องกาษาท่านก็ยังสามารถบริหารงานได้ เพราะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ท่านบอกว่าภาษาไทย ภาษจีนท่านไม่ได้เรียนเยอะ
ท่านเล่าว่าก่อนที่จะมาเป็นซีอีโอของซีพีเอฟ ท่านไปดูแลการลงทุนในเวียดนามเป็นประเทศแรก จากนั้นก็ไปที่กัมพูชาและพม่าปูพื้นฐานการขยายการไปลงทุนในเกษตรอุตสาหกรรมอาหารในหลายประเทศ
ท่านประธานประเสริฐจึงเป็นประวัติศาสตร์ เป็น1ในผู้สร้างประวัติศาสตร์ซีพีเป็นแบบอย่างให้อนุชนคนซีพีได้เรียนรู้ ศึกษาถึงการทำงานจนนำไปสู่ความสำเร็จ