ที่มาการเข้าซีพี
คุณธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์คณะทำงานด้าน Content 100 ปีซีพี ถึงการเข้ามาทำงานซีพีและประสบการณ์การทำงานพร้อมข้อคิดการทำงานว่า
คุณธีรยุทธ พี่ชายผมเข้ามาทำงานที่ซีพีแล้ว สมัยนั้นทำงานอยู่เครือสัก 2-3 ปี ผมจบโรงเรียนแสงทองที่หาดใหญ่ จบแล้วคุณพ่ออยากให้ผมเปิดร้านขายยา ตอนนั้นธุรกิจที่ดีที่สุดคือร้านขายยา พอดีผมมีพี่น้องหลายคน เปิดร้านขายยาที่หาดใหญ่ ปัตตานียะลาผมเลยไปฝึกร้านขายยาที่หาดใหญ่ พอจบคิดว่าจะเรียนต่อ ญาติบอกอย่าเรียนเลยทำงานดีกว่า ก็เลยไปเปิดร้านขายยาทำอยู่ประมาณ 4 ปี เป็นเด็กขายยาอยู่ 4 ปี มีคู่มือขายยา 4-5 เล่ม ขายยาแต่ไม่รู้เรื่องยาเลยก็ไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดเวลาหมอเขียนใบสั่งยามาก็ต้องอ่านออก ทำอยู่ 4 ปี ผมก็เข้ามาเที่ยวกรุงเทพ เพราะพี่ชายอยู่ที่กรุงเทพ
พี่ชายผมเรียน ACC จบแล้วก็เข้ามาทำงานที่ซีพี พวกเรียน ACC ส่วนใหญ่จบแล้วก็ไปอยู่บริษัทฝรั่ง อยู่บริษัทฝรั่ง เงินเดือนดีและโก้ด้วย แต่คุณธีรยุทธ พี่ชายผมมองว่าถ้าจะทำงานที่ก้าวหน้าก็ต้องหาธุรกิจที่มีโอกาสยิ่งทำยิ่งโต ยิ่งขยาย อยู่บริษัทฝรั่งเงินเดือนสูงก็จริงแต่ถ้านายจ้างฝรั่งย้ายกลับ นายคนใหม่มาอาจไม่ชอบเราก็ไม่เอาเราและฝรั่งไม่มีเรื่องของบุญคุณ ฝรั่งมองว่าถ้าจ้างคุณแพงคุณก็ต้องทำงานให้ สุดท้ายคุณธีรยุทธตัดสินใจมาทำงานที่ซีพี พวกอัสสัมไปทำงานที่ไหนเงินเดือนก็ประมาณ 1,500 แต่มาอยู่ซีพีได้ 800 เงินเดือนน้อยและเราอยู่บ้านนอกบอกว่าขายอาหารไก่น่าสนใจยังไง เราก็ไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นร้านอาหารไก่ธรรมดา
พอผมเข้ามาเยี่ยมพี่ชาย พอดีเสาร์อาทิตย์คุณประเสริฐ พุ่งกุมารบอกไปต่างจังหวัด ไปเยี่ยมลูกค้าก็หิ้วผมไปด้วย ไประยอง ผมจำได้ขับรถกันไป คุยกันไป แลกเปลี่ยนความคิดเห็นไป เสร็จแล้วกลับมาที่ออฟฟิศ มีโอกาสเจอประธานธนินท์ ก็คุยกันทั่วๆไปไม่มีอะไร แล้วผมก็กลับหาดใหญ่ สมัยนั้นเจียไต๋ทำยาสัตว์ ยาปราบศัตรูพืช มีโรงงานทำยาสัตว์เล็กๆอยู่ที่ตรอกจันทน์ อยู่ใต้อาคารโรงงานอาหารสัตว์ จะมีแผนกเล็กๆอยู่แผนกหนึ่งคือยาสัตว์
ตอนนั้นเจียไต๋มีคนไปช่วยซีพีแต่ไม่มีคนดูแล ทำๆหยุดๆ พอดีช่วงจังหวะนั้นประธานธนินท์ออกจากจากบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์กลับเข้ามาดูค้าสัตว์ของซีพี ประธานธนินท์มองเห็นว่ายาสัตว์น่าจะไปคู่กับอาหารสัตว์ เพราะยาสัตว์ อาหารสัตว์เราขายให้ลูกค้าที่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ก็ควรจะขายยาให้เค้าด้วยเวลาสัตว์ป่วย ท่านก็เลยอยากรื้อฟื้นแผนกยาสัตว์ขึ้นมา ท่านก็เลยนึกถึงผม ก็ไปคุยกับพี่ชายผมว่าซีพีจะทำแผนกยาสัตว์และคุณธนากรรู้เรื่อง ก็ชวนผมมาดูพี่ชายผมโทรศัพท์ไปบอก ที่หาดใหญ่ เวลานั้นเศรษฐกิจแย่มาก ยางพารากิโลกรัมละ4บาท จากกิโลกรัมละ 8-10บาท คนหนุ่มสาวหนีเข้ากรุงเทพหมด ผมก็คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้เปิดร้านขายยาจะมีคนซื้อไหมเพราะมีแต่คนยากจน ก็คิดอยู่วันสองวัน อย่างนี้เราไปลองที่กรุงเทพดีกว่า ก็ตอบตกลงเข้ากรุงเทพ
“ผมยังจำได้เลยว่าผมเข้ากรุงเทพ 2 ตุลาคม 2510 คุณธีรยุทธก็ไปรับผมที่บางกอกน้อยนั่งรถเข้ามาอยู่ที่บ้านเพื่อนที่กรุงเทพ วันรุ่งขึ้นก็มาพบประธานธนินท์ที่ทรงวาด ประธานธนินท์ก็บอกว่ายาสัตว์มีอนาคต วันหลังเราขายหมูมากขึ้น ขายไก่มากขึ้นก็ต้องใช้ยามากขึ้น แต่แผนกยาสัตว์ทำแล้วก็หยุดไป ไม่มีคนดูแลและไลเซนส์ก็หมดอายุ แต่ก็ยังผลิตยาบำรุงสัตว์ ยาถ่ายพาธิ ประธานธนินท์ก็บอกว่ามีโครงการ ผมจะทำไหม จะตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนก ผู้จัดการแผนกยาสัตว์ ผมก็บอกว่ามาครั้งนี้ตั้งใจจะมาทำงานกับซีพีประธานธนินท์บอกผมไม่ได้มาเที่ยวกรุงเทพนานแล้ว ไปเที่ยวสักสองอาทิตย์ก่อนแล้วค่อยมาทำงานก็ได้ ผมตอบไปว่าไม่ครับผมจะมาทำงานเลย ผมอยู่กรุงเทพเที่ยวเมื่อไหร่ก็ได้”
พัฒนากิจการยาสัตว์
“วันที่ 3ตุลา ผมก็มาทำงาน ผมมาก็เริ่มปรับปรุงใหม่ ให้ใบอนุญาตขายยาถูกต้อง ได้มาตรฐาน ตอนนั้นก็ไม่มีรถ จะไปกระทรวงสาธารณสุขต้องนั่งรถเมล์สาย35ไปรอหัวหน้าแผนกเป็นวัน สุดท้ายก็เจอเค้าบอกให้กลับไปก่อน เพราะใบอนุญาตขายยาคุณหมดอายุ มีจดหมายไปก็ไม่มีคนตอบ สุดท้ายผมก็ไปหารองปลัดกระทรวงที่บ้าน แถวโกบ้อ ตากสิน บ้านนายแพทย์โกมล เพ็ญศรีทองไปพบท่านไปขอร้องท่าน ท่านก็ยอมผ่อนผันให้ ผมก็ไปที่กระทรวงเพื่อขอไลเซนส์ ท่านบอกว่าเราทำผิดอีกไม่ได้แล้วนะ”คุณธนากรเล่าถึงวันแรกการทำงาน
“ก็เริ่มทำงาน ประธานธนินท์บอกว่าถ้าคุณจะขายยาสัตว์ คุณต้องรู้ก่อนว่าเลี้ยงไก่อย่างไร เพราะคุณไม่รู้จักไก่ เค้าเลี้ยงไก่อย่างไร บอกว่าให้ผมติดตามการทำงานไปกับดร.หลิน(ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนกุล)ดร.หลินก็พาผมไปที่ฟาร์มอ้อมน้อย เพราะซีพีมีฟาร์มเลี้ยงไก่อยู่ที่อ้อมน้อย ศูนย์ฟักไข่อยู่ที่อ้อมน้อย ดร.หลินพาผมไปเช้ากลับเย็น ตอนนั้นซีพีมีรถโตโยต้า คันหนึ่ง ดร.หลินพาผมไปเดือนสองเดือนแล้วท่านก็ไปเรียนต่อที่อเมริกาผมก็ลุยคนเดียวและเริ่มยาสัตว์
บุกเบิกการรับป.ตรีสัตวแพทย์ สัตวบาล
ผมก็มาเริ่มบุกเบิกรับนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาทำงาน เพราะเราคิดว่า ถ้าจะขายยาสัตว์หรืออาหารสัตว์คนที่จะไปขายต้องเป็นคนที่มีความรู้ เป็นพวกสัตวบาลส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสัตวแพทย์ เพราะเค้ามองว่าบริษัทเราเล็กไม่มา จบมาก็ไปเป็นอาจารย์หรือไปอยู่บริษัทฝรั่งอย่างอีแลนโก้ ไซเฟอร์ ผมก็เลยบอกว่าอย่างนี้เราก็ต้องไปหาสัตวแพทย์สัตวบาล แต่เราประกาศรับสัตวบาลก็มีคนมาสมัครเช่น คุณสิริ ชมชาญ คุณสาโรช ผมก็ไปพบ ดร.เล็ก ธนะสุกาญจน์ หรือ คุณหมอเล็ก ท่านเป็นคณบดีสัตวแพทย์จุฬา ต้องไปนั่งอธิบายธุรกิจของเรา เล็กก็จริงแต่ต่อไปเราจะขยายใหญ่ เราจำเป็นต้องมีสัตวแพทย์มาช่วย ท่านก็เลยแนะนำคุณหมอเผชิญ สุรพิเชษฐ์
“ผมใช้เวลาประมาณ 2-3ปี เราได้เป็นที่1ของประเทศไทยคือขายครบ 1ล้านบาท และเราแซงบริษัทฝรั่ง ตอนนั้นบริษัทฝรั่งเต็มไปหมด อย่างไฟเซอร์ เมเกอร์ เอ็มแอนด์บี บริษัทซัมมิท อีสต์เอเชียติก เพราะเรารุกหนักและคู่แข่งประมาทไปพูดว่าซีพีไปเอาเด็กที่ไม่รู้เรื่องยามาทำ ไม่มีอะไร ไม่ต้องไปสนใจ แต่เนื่องจากว่าเราทำอาหารสัตว์ด้วยอาหารสัตว์เราไปได้ดีและอาหารสัตว์กับยาไปคู่กัน ลูกค้านี่สำคัญมาก ลูกค้าอาหารสัตว์ก็คือลูกค้ายาสัตว์ และลูกค้ากับเรามีความสัมพันธ์ที่ดี เวลาเค้าขายของเค้าจะมีไฟเซอร์มีรายอื่นๆและมีของเราด้วย แต่เวลามีลูกค้ามาซื้อของก็เชียร์ของเรา เราก็สนับสนุนเค้าในราคาที่ไม่แพงให้เค้ามีโอกาสมีกำไร มีมาร์จิ้น ขนาดว่าเค้าสั่งของยี่ห้ออื่นมาขายวางจนหมดอายุ เพราะชาวบ้านเวลาเลี้ยงไก่สมัยนั้นก็จะมาซื้อยาเค้าก็จะมาถามคนขายว่าอะไรดี คนขายก็บอกอันนี้ นี้ดีกว่าก็ซื้อของเราไป
จนกระทั่งถึง 3ปี เราถึงมาเป็นที่1 พอถึง 3ปี ก็มีปัญหา อีไลลิลี่เค้าให้อีสต์เอเชียติกเป็นตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ค่อยแฮปปี้กับเอเยนต์ของเค้า จะให้เราเป็นตัวแทนจำหน่าย ก็เป็นจังหวะที่ผมกับ คุณเชิดชัย ทำคู่กัน ทำแผนกยาสัตว์คู่กันเพราะผมมาเริ่มยาสัตว์ ตอนนั้นซีพีทำอยู่ที่สุริวงศ์ มี ท่านสุเมธ ท่านมนตรี คุณเชิดชัย คุณเชิดชัย มาก็มาอยู่คู่กับผม คุณเชิดชัยรับผิดชอบติดต่อต่างประเทศ ผมรับผิดชอบขายภายในประเทศ ก็พอดีเราสองคนทำงานอยู่ร่วมกัน ระยะหนึ่งก็มีโอกาสที่จะร่วมกับอีไลลิลี่ ตัวแทนจำหน่ายอีไลลิลี่เราก็อยากได้ เพราะอีไลลิลี่มีตัวยาที่ดี ยาแก้หลอดลมอักเสบของไก่ แต่ว่าทางอีไลลิลี่ก็มีข้อแม้ว่าเอาโปรดักซ์ของอีไลลิลี่ไปรวมกับโปรดักซ์ที่เราทำอยู่ไม่ได้เพราะเดี๋ยวมันจะแข่งกันเอง คุณต้องแยกออกมา อันนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไปตั้งบริษัทแอ็ดวานซ์ฟาร์ม่า ตอนนั้นเราก็ขายหลายยี่ห้อ ของซีพีก็เป็นชื่อซีพี
ขณะเดียวกันเราก็เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของฝรั่งด้วยสุดท้ายก็เลยตัดสินใจว่าของเก่าที่ผมทำ โอนให้คุณเชิดชัยไปดูแล คุณเชิดชัยก็เลยเปลี่ยนชื่อ แยกบริษัทออกมาชื่อบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อินเอกซ์ จากเดิมเป็นเจริญโภคภัณฑ์แผนกยาสัตว์ แล้วผมก็มาตั้งเป็นบริษัทแอ็ดวานซ์ฟาร์ม่า สร้างทีมใหม่หมดแล้วมาตั้งสำนักงานที่สยามแสแควร์ โคคาแคนตัน ตึก4ชั้น ตรงข้ามกรมตำรวจ ถนนอังรีดูนังต์ แอ็ดวานซ์ฟาร์ม่าอยู่ตรงนั้น อาร์เบอร์เอเคอร์อยู่ตรงนั้น เราเป็นตัวแทนจำหน่ายไก่อาร์เบอร์เอเคอร์อยู่ที่นั้นและเกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรมก็อยู่ที่นั่น พอตั้งแอ็ดวานซ์ฟาร์ม่าก็โชคดีได้ทีมอีแลนโกเก่า แผนกสุขภาพสัตว์ ตอนนั้นเราก็ได้คุณขจร กมลาสซึ่งเสียไปแล้ว ได้หมอไพโรจน์ โรจนสมบูรณ์ หมอมงคล ทุปิยะ พอเราเป็นตัวแทนจำหน่ายอีไลลิลี่ก็มีโปรดักซ์ตัวอื่นเข้ามาด้วย ตั้งเป็นบริษัทแอ็ดวานซ์ฟาร์ม่า ประมาณปี2513-2514 ตอนนั้นทีมก็แข็งแรงมาก
จากแอ็ดวานซ์ฟาร์ม่าสู่โรงทอ/ซีพีอินเตอร์เทรด/กิจการที่ฮ่องกง
คุณธนากรเล่าว่าระหว่างที่เป็นกรรมการผู้จัดการแอ็ดวานซ์ฟาร์ม่าในปี2513 ก็เป็นรองประธานซีพีอินเตอร์เทรดและก็ไปเป็นผู้จัดการโรงงานทอกระสอบที่สีคิ้ว ซึ่งเป็นโรงงานที่ ท่านจรัญและท่านมนตรี ลงทุนแต่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากคนหันไปใช้กระสอบพลาสติกแทนกระสอบที่ทอจากปอหรือกระสอบปอ และมีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบที่จะทอกระสอบ ท่านประธานจรัญกับท่านมนตรีก็มอบกิจการให้ท่านประธานธนินท์ๆก็มอบให้ผมไปดูแล และผมยังมีกิจการที่ต้องไปดูที่ฮ่องกงๆ
ตอนนั้นประเทศไทยเราส่งออกอาหารสัตว์ ยาสัตว์เราอยู่ตัวไม่มีปัญหา ยาสัตว์เราส่งออกไปขายที่ฮ่องกงดีมาก หัวอาหารส่งไปขายที่ฮ่องกงขายดีมาก ต่อมารัฐบาลไทยออกมาห้ามส่งออกไปฮ่องกง เราก็มาหาทางแก้เอาวัตถุดิบไปตั้งโรงงานที่ฮ่องกง ประธานก็เลยส่งผมไปฮ่องกง ไปดูแลอาหารสัตว์ที่ฮ่องกงแล้วก็ส่งวัตถุดิบไปผสมที่นั่นขายที่ฮ่องกง พอปี1977 ผมก็ไปดูโรงงานทอกระสอบโรงทอกระสอบเริ่มวิกฤต ขาดทุน ตอนนั้นมีคนงานตั้ง3พันคน คิดจะเปลี่ยนเป็นโรงงานทอพรมแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะพรมแข็งไปสู้พรมพลาสติกไม่ได้ โรงงานทอพรมก็หยุดแล้วไปเปลี่ยนเป็นโรงงานทอกระสอบพลาสติกทั้งหมดขายให้ในเครือซีพี
จนถึงปี 1979 จีนเปิดประเทศ คนที่กระตุ้นให้พวกเราไปเมืองจีนคือท่านเจี่ย เอ็กชอ ผมจำได้ท่านมาจากสิงคโปร์ บอกว่าเดี๋ยวนี้เราไปลงทุนทุกแห่ง แล้วบ้านเกิดละ โอกาสอย่างนี้คุณต้องไปแล้ว 1.ตลาดใหญ่ 2.เป็นบ้านเกิดเราต้องช่วย เอาเทคโนโลยีไปช่วยเค้า ผมคิดว่าตอนนั้น4พี่น้องแอคทีฟมากทั้ง ท่านประธานจรัญ คุณมนตรี ท่านสุเมธและประธานธนินท์ พวกผมก็ตามไป คุณธีรยุทธก็ไป ไปด้วยกันแล้วผมก็เข้าออกฮ่องกงบ่อยๆ ไปเจรจาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เซินเจิ้น เราก็ติดต่อช่องทางของเราที่จะไปลงทุนก็บังเอิญคอนติเนนตัลเกรน เกรนเข้ามาร่วมกันกลายเป็นคอนติแนนตัลเกรน ซีพีและรัฐบาลเซินเจิ้น
บุกเบิกธุรกิจในจีนที่เซินเจิ้น
คุณธนากรเล่าว่าปี 1979 การเจรจาสำเร็จ ปี 1980 เราตั้งโรงงานเล็กๆแล้วก็ไปเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู สมัยนั้นเราไปเมืองจีนเราเลี้ยงไก่ทีละหมื่นตัวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับจีนเค้าเลี้ยงกัน 2-300 ตัว เราหมื่นตัว ที่เซินเจิ้น ทางจีนก็เลยบอกทดลองก่อนก็เลยเลี้ยง5พันตัวต่อเล้า เอาลูกค้าที่สนใจเลี้ยงไก่ไปสอนเค้าเราก็ทำสำเร็จ เป็นที่ฮือฮามากหลายบริษัทในเมืองจีนที่ทำอาหารสัตว์เค้าไปแอบดูกิจการเราที่เซินเจิ้น ผู้บริหารบริษัทของจีนที่เสฉวนเจอผมในงานปาฐกถา บอกผมว่ามาเที่ยวที่เซินเจิ้น เห็นคนเข้าแถวยาวทำอะไรกัน ซื้ออะไรกัน ผมบอกซื้ออาหารสัตว์ อะไรคืออาหารสัตว์ ไม่รู้จัก คนจีนสมัยนั้นคิดว่าอาหารสัตว์คืออาหารที่เรากินเหลือแล้วเอาไปเลี้ยงสัตว์นั่นคืออาหารสัตว์ ไม่ใช่มันคือเทคโนโลยีใหม่คือเอาวัตถุดิบมาผสมเป็นสูตรที่เหมาะกับความต้องการของสัตว์เขาก็เลยไปตั้งที่เฉินตูและมีหลายโรงงานแอบเข้าแถวมาซื้อของเราเพื่อไปเรียนรู้ต่างๆในสมัยนั้น
การร่วมกับคอนติเนนตัลเกรน เราและรัฐบาลจีน เป็น3ปี ที่ผมว่ายากลำบากที่สุด เพราะช่วงนั้น ปี1980 พวกเราต้องไปพักที่ฮ่องกง ที่นั้นไม่มีที่พัก เช้าไปเย็นกลับ เช้าจากฮ่องกงนั่งเรือไปหรือนั่งรถไฟไป ตอนเย็นก็นั่งกลับ เราเลยชอบพูดเล่นว่าตอนเช้าไปเป็นคนไทยขากลับเป็นฝรั่ง เพราะว่าฝุ่นมันเยอะ กลับมานี่ผมแดง ตอนนั้นเซินเจิ้นไม่มีถนนเป็นถนนลูกรัง ข้อที่2 ที่ลำบากมากคือการบริหารงานผมมีเจ้านาย 3คน คนหนึ่งคนไทยไม่มีปัญหา คนหนึ่งเป็นฝรั่งมาจากอเมริกา อีกคนคือรัฐบาลจีนซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องของการบริหารแบบโลกเสรีและข้าราชการในเซินเจิ้นจะเป็นข้าราชการรุ่นก่อนๆ
ตอนนั้นเซินเจิ้นเหมือนสวรรค์ของเมืองจีน เพราะอยู่ในเมืองจีนคอมมูนิสต์ดูแลหมด แต่เซินเจิ้นเป็นเมืองฟรีโซน 200-300 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในนั้นมีไนท์คลับ มีเอนเตอร์เทน มีภัตตาคาร ร้านอาหารเปิด 24ชม. มีทุกอย่างหมด โรงแรมยังไม่มี จะมีก็เป็นตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งไว้ มีบ้านรับรองของอำเภอแต่ไม่มีน้ำร้อน ต้องหิ้วกระติกน้ำร้อนขึ้นไปถึงชั้น5 ชั้น10 แล้วก็ใส่ถังเหมือนคนจีนอาบน้ำ นี่คือสภาพของเซินเจิ้น แล้วก็ต้องผ่านด่านเข้าประจำไปเช้ากลับเย็น ไปถึงที่ด่าน พวกเจ้าหน้าที่ด่าน ข้าราชการตม.เจอพวกเราทุกวันจนบ่นมาอีกแล้ว อยู่มาวันดีคืนดีให้เราผ่านไม่บ่นไม่ต้องตรวจจำได้ อยู่3ปีเหมือน 10ปี เซินเจิ้นย้อนกลับไปสิ่งแวดล้อมไม่ดีงานก็ลำบากเพราะต้องเจอวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เหมือนกัน จีน ฝรั่งกับไทยไม่เหมือนกันและเป็นสินค้าใหม่
รัฐบาลจีนบันทึกประวัติศาสตร์ซีพีทำให้คนจีนทานไก่ถูก
คุณธนากรเล่าต่ออีกว่าสิ่งที่ดีอย่างเดียวคือความต้องการมหาศาล ไม่มีปัญหาเรื่องตลาดเลยไม่ต้องทำมาร์เก็ตติ้ง มีแต่คนเข้าแถวมาซื้อของ ช่วงที่จีนสวิงจากคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยม จนขาดแคลนอาหารมาก อาหารการกิน ไก่แพงมาก หมูแพง เราไปทำให้มันถูกลง คนก็แห่เข้าแถวมาซื้อและไม่มีปัญหาเรื่องหนี้เสีย ขายเงินสดหมดรัฐบาลจีนบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้เลยว่าซีพี เจียไต๋ ทำให้คนจีนมีโอกาสกินไก่ในราคาถูก เพราะเลี้ยงไก่มากขึ้น ราคาไก่ลงไปถึง 2-3เท่า เพราะคนจีนจะกินไก่ตอนไหว้เจ้า วันธรรมดาไม่ได้กินหรอก ตอนนี้คนจีนกินไก่ได้ทุกวันและเราก็ตัดแต่งไก่ ตั้งโรงชำแหละทำให้คนจีนสามารถเลือกกินชิ้นส่วนต่างๆได้ตามใจชอบ ตลาดใหญ่ขึ้นๆ”
“จากการลงทุนของเราที่เซินเจิ้นทำให้มณฑลต่างๆวิ่งมาหาเรา อยากให้เราไปลงทุนในมณฑลองเขา จากเซินเจิ้น เราไปจี้หลิน เหอหนาน เฉินตู เหตุผลที่ไปจี้หลินเพราะจี้หลินเป็นแหล่งผลิตใหญ่ถั่วเหลือง แหล่งวัตถุดิบ เหอหนานมีข้าวโพดมาก “
เราไปเฉินตูเพราะท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรี ทั้งสองท่าน สมัยสงครามโลกท่านไปเรียนหนังสือที่เฉินตู เกิดสงครามโลก ท่านกลับไม่ได้กลับไม่ได้ก็ขายบุหรี่ตามถนน ท่านจึงมีความผูกพันกับเสฉวน เราไปลงทุนที่เสฉวนใช้เวลาเกือบ4ปีถึงจะสำเร็จ
สู่การบุกเบิกกิจการมอเตอร์ไซค์
หลัง ปี1983 ก็มีเรื่องมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์เกิดขึ้นได้อย่างไร คุณธนากรย้อนเล่าให้ฟังว่า พี่เขยประธานธนินท์เป็นตัวแทนจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ของเซี่ยงไฮ้เพื่อจะเอามาขาย บังเอิญว่าก็ให้เราขายปีละ 500 คันเราก็ไม่พอขายเพราะว่ามีคนจีนโพ้นทะเลอยากจะซื้อฝากไปให้ญาติเขาที่เมืองจีน แล้วมอเตอร์ไซค์ก็ส่งออกมาเสร็จแล้วส่งไปให้ญาติตอนนั้นท่านประธานธนินท์บอกปริมาณน้อย ผมกับประธานธนินท์ไปดูกิจการของบริษัทเซี้ยงไฮ้กัน ไปดูเป็นอย่างไร เราเดินทางไปถึงเซี้ยงไฮ้ไปเยี่ยมที่โรงงาน เราว่าขอเพิ่มได้ไหมให้เรา 1,000 คัน 2,000 คัน ได้ไหม
เค้าบอก 500 คัน ก็มากแล้ว เค้าบอกว่าเอาอย่างนี้อยากจะได้มาก ขอซีพีมาลงทุนด้วย มาลงทุนก็มีสิทธิที่จะขายเท่าไหร่ก็ได้ เราก็คิดว่าถ้าลงทุนก็มีโอกาสก็ไปติดต่อฮอนด้าที่เมืองไทย ผมไปดูฮอนด้า ซูซูกิน ยามาฮ่า ศึกษาก็เห็นว่าฮอนด้าดีที่สุดเป็นสี่จังหวะ ยี่ห้ออื่น 2 จังหวะ ทำให้เกิดพอลลูชั่น ก็เจรจากับฮอนด้าๆบอกเมืองจีนเสี่ยงเค้าไม่เอา แต่ถ้าเราเอาจะขายโนวฮาวให้ สุดท้ายก็เลยเจรจาขายโนวฮาวให้เราก็เอาฮอนด้าเข้าไปปรับปรุงที่เซี่ยงไซ้จากการผลิตมอเตอร์ไซค์รุ่นเก่าเป็นรุ่นใหม่ปีละ 6 หมื่นคัน เท่าไหร่ก็ขายหมด กำไรดีมาก มอเตอร์ไซค์ตอนนั้นเพราะว่าทุกคนเอาเงินสดใส่กระสอบมาขอซื้อมอเตอร์ไซค์ ซื้อล่วงหน้า ทุกอย่างเราขายหมด เราตั้งบริษัทเซี่ยงไฮ้ เอ็กชอ มอเตอร์ไซค์เคิ้ล ปี1985 ขายมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อซิ่งฟุ Xingfu ตอนนั้นผมไปเป็นประธาน กำไรปีละ 200ล้านหยวน บริษัทเซี้ยงไฮ้ทำหลายอย่างทั้งแทรคเตอร์ มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ แต่มาร่วมทุนกับเราเฉพาะมอเตอร์ไซค์ บริษัทเซี่ยงไฮ้เป็นรัฐวิสาหกิจของเซี่ยงไฮ้
คุณธนากรเล่าเพิ่มเติมในส่วน รถMG ที่ซีพีทำ มีเหตุผล 2อย่าง 1.จีนอยากจะไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นนโยบายของรัฐบาลเรื่อง One Belt one road เค้าก็มาดูอินเดีย มาดูไทย อินโดนีเซีย มาดูมาเลเซีย หลายแห่งมาศึกษา เราก็บอกถ้าคุณจะทำต้องมีพาร์ตเนอร์ที่ดี ถ้าคุณไม่มีพาร์ตเนอร์ที่ดีไม่ง่ายที่จะทำธุรกิจ ตลาดเสรีแข่งกันน่าดู ผมก็เลยชวนมาเมืองไทยมาร่วมกันทำก็ได้ เราช่วยคุณ ตอนทำมอเตอร์ไซค์คุณช่วย ซีพีตอนรถยนต์ซีพีจะช่วยคุณทำก็เลยตัดสินใจลงทุนที่เมืองไทย นี่คือเหตุผลที่1 เหตุผลที่ 2 เศรษฐกิจไทยไม่ดีเราก็คิดว่าดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อเป็นของขวัญให้กับรัฐบาลไทยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ถือเป็นโครงการใหญ่ ในฐานะซีพีเป็นธุรกิจไทยก็ดึงต่างชาติมาลงทุนที่เมืองไทย
นี่คือสาเหตุการเริ่มต้นและเราก็มองว่าMGเป็นแบรนด์เก่า มีคนรู้จักและมีโอกาสที่จะทำได้เราถึงจะทำ เป็นแบรนด์ยี่ห้อจีนก็ไม่เอาเหมือนกัน เราก็ปรับMG 6 เข้ามา MG 5 ,6 เราก็ขาดทุนไป เรามาเริ่มฟื้น MG3 และก็มา ZS แล้วก็มา EV แล้วตอนนี้มาพลัสอิน ตอนนี้ EV ร้อยเปอร์เซนต์และมาอันใหม่เป็นสเตชั่น แวกอนขายดีมากเพราะฉะนั้นปี 2563 SUV เรามาเป็นที่1เราแซงได้หมด แต่ที่จำนวนไม่มากเพราะมีรถกระบะเยอะ แต่ถ้านับ SUV เราเป็นที่1 รถกระบะก็ออกมาแล้วและจะเป็นปีแรกที่เราจะ Break event 7ปี ที่ผ่านมาขาดทุนแต่ ปี 2564 น่าจะมีกำไรเป็นปีแรก
สำหรับกิจการเบียร์ที่เมืองจีนคุณธนากรบอกว่ามีที่มาจากท่านประธานธนินท์อยู่ฮอลแลนด์ สนิทกับไฮนีเก้นๆอยากจะมาลงทุนที่เมืองจีนเราก็เลยเอาไฮนีเก้น เราและจีนร่วมกันตั้งโรงงานผลิตเบียร์ที่เซี่ยงไฮ้มีกำไร แต่กำไรได้ระยะหนึ่งไฮนีเก้นบอกว่ารู้สึกว่าหุ้นน้อยไป เราก็บอกว่าถ้าจะเอามากเราขายให้ เราก็เลยขายให้ไฮนีเก้นไป
แล้วเราก็ไปร่วมกับเบียร์สิงห์ที่หนานหนิงไม่สำเร็จเพราะว่าเบียร์สิงห์ นำสูตรเบียร์สิงห์ไปเมืองจีนไม่ถูกรสนิยมคนจีนเพราะคนจีนกินเบียร์เหมือนน้ำไม่ใช่กินเบียร์เหมือนเบียร์ เบียร์ไทยเมาได้ เบียร์จีนไม่เมา เมื่อไม่สำเร็จ เบียร์สิงห์ก็ถอนตัว แต่ผมก็มองว่ายังมีโอกาสเพราะมีแค่โรงงานเดียวถ้าปรับให้ดี ผมก็ไปเจรจากับชิงเต่า ชิงเต่าผมสนิทกัน พอชิงเต่ารู้เขาอยากจะมาแต่ขอให้ซีพีห้ามถอยก็เลยกลายเป็นว่าซีพีร่วมกับชิงเต่า ชิงเต่าซื้อในส่วนของเบียร์สิงห์ไปเราก็เหลือ25%
ตอนนี้ก็กำไรทุกปีและระหว่างนั้นก็ทำแคตเตอร์พิลล่าอีก น่าจะ 20 ปี แล้ว แคตเตอร์พิลล่าอยากจะไปลงทุนที่จีน ก็ร่วมกันตั้งเป็นบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายของแคตเตอร์พิลล่าเริ่มต้นใน 4 มณฑล ตอนหลังมาเพิ่มเป็น 9 มณฑล ตอนนี้กำไรทุกปี ใหญ่กว่าเมืองไทย เป็นเครื่องจักรก่อสร้างทำสนามบินทำเหมือง ทำถนน ซุปเปอร์ไฮเวย์ปีหนึ่งขายประมาณ 5 พันคัน
ริเริ่มรายการทีวี
สำหรับรายการ CCTV คุณธนากรเล่าถึงที่มาว่า สมัยนั้นผมอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ อยู่กับประธานธนินท์ เราดูทีวี ดูๆแล้วก็ปิดไปเลยไม่มีกู๊ดไนท์ ดูๆแล้วก็หายไปเลย จบแล้วจะลาสักคำก็ไม่มี เราก็มานั่งคิดกันว่าถ้าหากเราสามารถมีสถานีที่ดีและสามารถให้คนที่เลิกทำงานมีที่เอนเตอร์เทรนน่าจะเป็นธุรกิจที่ดี เรามองในแง่ที่ดี เราก็ไปเจรจากับรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ว่าเราจะมาขอตั้งสถานีได้ไหม รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มองหน้าเราคิดว่าเราล้อเล่น เพราะว่าการตั้งสถานีเป็นเรื่องใหญ่รายการ 24ชั่วโมง
คุณจะเอาคอนเทนท์มาจากไหนคุณท้ายเค้าก็บอกว่าถ้าเราอยากจะทำไม่เป็นไร ลองเอา 2ชั่วโมงก่อน ให้เวลาเราสองชั่วโมงช่วงไพร์มไทม์ แต่รัฐบาลขอตรวจก่อนนะ ตรวจล่วงหน้า 3เดือน ตรวจวันนี้ถึงจะปล่อย ตอนนั้นกำลังจะมีแข่งเอเชี่ยนเกมส์ เราก็ลำบากมาก ถึงเวลาจะออนแอร์ มีเรื่องของความมั่นคงเค้ากลัวเราจะไปโฆษณาชวนเชื่อ โชคดีเรามีเพื่อนทำทีวีอยู่ที่ไต้หวันชื่อมิสเตอร์อองตอนนั้นเค้ามาศึกษาว่าคนจีนอยากรู้อะไร คนจีนอยากรู้สิ่งใหม่ๆ
เพราะฉะนั้น 1 ชั่วโมง จะเป็นวาไรตี้โชว์ อีกหนึ่งชั่วโมงจะเป็นหนังดัง หนังฮอลลีวู๊ด แล้วก็ทุกวัน ทุกคืนเราจะต้องมีเพลง เพลงทันสมัย1เพลง คนติดมาก เรื่องวาไรตี้เราก็ไปจ้าง ไปซื้อรายการบ้างหรือถ่ายทำอย่างที่เมืองไทยล่องแม่นำเจ้าพระยา วัดพระแก้วคนก็ติดกันมาก เพราะเค้าไม่มีรายการอะไร ข้อสำเร็จอีกอย่างคือเราไม่มีโฆษณาผลิตภัณฑ์ซีพี ระยะแรกที่เรายืนหยัดอยู่ได้ แต่พอรายการเรามาออกก็เจอเหตุการณ์เทียนอันเหมินโฆษณาถอนหมดเลยรัฐบาลก็ถามว่าเราขาดทุนทุกวัน คุณจะเอาไหม ถ้าไม่มีโฆษณา ท่านประธานก็บอกว่าเราทำต่อ ตอนนั้นขาดทุน ก็เอาจากอุตสาหกรรมต่างๆมาจุนเจือโดยไม่มีโฆษณาผลิตภัณฑ์ซีพี จนทุกคนคิดว่าเจินต้าคือบริษัททำทีวี
การทำรายการทีวี ประโยชน์ที่ได้มหาศาล ทำให้คนของเราเวลาไปพัฒนาโครงการอันใหม่แต่ละมณฑลไม่ต้องแนะนำตัวเองพอไปถึง ผู้ว่ามณฑลก็รับเราก็ไม่ต้องเสียเวลามานั่งอธิบายไปที่ไหนคนรู้จักหมด อันนี้ผมคิดว่าเป็นการมองการณ์ไกลของท่านประธานธนินท์ ตอนนั้นทุกคนก็มองไม่ออก มองไม่เห็นประโยชน์ มองแต่ว่าเสียเงินๆ สถานนีเริ่มต้นจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้แล้วเราก็ขอต่อลิงค์ไป 4มณฑล คือปักกิ่ง ฮกเกี้ยน และกวางตุ้งรายการก็ดังมากทาง CCTV สำนักงานใหญ่ก็ขอให้เราย้ายโครงการนี้ไปที่สำนักงานใหญ่และถ่ายทอดทั่วประเทศ และเป็นรายการเดียวที่เปิดมาถึงวันนี้ 20ปี
ริเริ่มศูนย์การค้า
คุณธนากรเล่าถึงอีกโครงการคือศูนย์การค้าลั่วหยาง 1ล้านตารางเมตร มีตึกสูง 14ตึก ตึกคอรโด 14 ตึก และ ตึกออฟฟิศสูง 50 ชั้นอีก 4 ตึก และก็มีศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ อันนี้ถ้าอยู่มืองไทยคงไม่ได้ เรายังทำมอเตอร์ไซค์ที่ลั่วหยาง ดังมาก ทำให้ลั่วหยางได้รับภาษีมหาศาล มอเตอร์ไซค์ร่วมล้านคัน เค้าคิดว่าเจินต้ามีบุญคุณกับเมืองเค้ามาก ก็ให้โอกาสเราทำศูนย์การค้า เมืองใหม่ที่ลั่วหยาง เค้าพัฒนาเมืองใหม่ พอพัฒนาเมืองใหม่นักพัฒนาที่ดินก็มักจะขายคอนโดอย่างเดียวเพราะคอนโดคืนทุนเร็วแต่ไม่มีใครสนใจเรื่องศูนย์การค้า ผู้ว่าเมืองลั่วหยางก็เป็นเพื่อนกันก็เห็นว่าเรามีศูนย์การค้าที่เซี่ยงไฮ้ ผมเชิญเค้ามาเมืองไทยเค้าเห็น 7-11 เค้าเห็นโลตัส
เค้าบอกผมกำลังต้องการแบบนี้มาอยู่ในเมืองนี้ เพราะว่าในเมืองมีคนอยู่แต่ไม่มีศูนย์การค้าเลย เพราะศูนย์การค้ากว่าจะคืนทุน10ปี แต่ขายคอนโดเร็ว ปีสองปีก็คืนทุนแล้ว คุณมาทำตรงนี้ได้ไหม ผมมีที่ไพร์มไทม์แอเรีย ประมาณ 60กว่าไร่ ถ้าจะเอาจะให้พื้นที่ตรงนี้ ถ้าเปรียบกรุงเทพตรงนี้คือราชประสงค์แต่มีข้อแม้ว่าต้องสร้างศูนย์การค้า เราก็มาคำนวณ ศูนย์การค้า10ปี จึงจะคืนทุน เราบอกว่าเราขอส่วนหนึ่งจะสร้างคอนโดเพื่อเอากำไรมาถมศูนย์การค้า เค้าบอกเอาเลยถ้ากลัวสร้างแล้วขายไม่ออกก็สร้างศูนย์ราชการแล้วผมซื้อคืนรัฐบาลซื้อคืนที่ดินก็ให้เราถูกมาก เมืองจีนไม่มีโจมตีเพราะเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับเมือง ผมจำได้พาท่านประธานไปดูที่แปลงนี้ สุดท้ายเราก็ทำ ล้านตารางเมตร เราสร้างเสร็จ ตอนนี้เราขายหมดแล้วเหลือศูนย์การค้าที่เรารันอยู่ก็ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ของเรา
คุณธนากรเล่าย้อนไปถึงซูปเปอร์แบรนด์มอลล์ แม้ว่าผมจะไม่ค่อยรู้เรื่องศูนย์การค้าแต่ผมรู้จักคนมากในเซี่ยงไฮ้ เราไปมาหาสู่กันบ่อย ซูปเปอร์แบรนด์มอลล์สมัยคุณสตีเวนหวองเป็นคนทำ เสร็จแล้วพอทำได้ครึ่งเดียวเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเงินที่เราลงไปแล้ว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ 60 ล้านกู้จาก 8ธนาคารของไทยและทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็ไปไว้กับธนาคาร ธนาคารขาดทุนเลิกกิจการไปสองธนาคาร โครงการก็หยุด เราจะกู้ใหม่ก็ไม่ได้ โครงการหยุดไปปีกว่า สุดท้ายผมก็เข้าไป ก็พอดีผมเชิญรองผู้ว่าเซี่ยงไฮ้มาเมืองไทยและเซี่ยงไฮ้จะจัดสัมมนา 500 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเชิญมาลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ เค้าก็บอกโครงการเหล็กขึ้นสนิมแล้วเพราะไม่ได้สร้างต่อ ทางเราก็กลัวอันตราย มันอยู่ริมแม่น้ำ
ถ้าน้ำดันมามันพังหมด เพราะน้ำหนักกดดันไม่พอแต่ว่าทำอะไรไม่ได้เพราะเงินไม่มี รองผู้ว่ามาเมืองไทยผมก็นั่งเครื่องไปภูเก็ตกับเขาก็คุยกัน ไปมาเค้าก็บอกโครงการเราทำไมไม่ทำก็เล่าให้เขาฟัง ถ้าทิ้งไว้อย่างนี้เมืองเซี่ยงไฮ้ก็เสียชื่อ ซีพีก็เสียชื่อ เจียไต๋ก็เสียชื่อ เขาก็บอกว่าจะช่วยเรา คุณช่วยทำต่อ รื้อฟื้นใหม่ พอเสร็จก็มานั่งกินข้าวกับประธานธนินท์ที่กรุงเทพ บอกคุณธนากรไปทำ โดยเอาเงินกองทุนสวัสดิการสังคมมาให้ยืมและเราก็ทำจำนองออกมาสร้างต่อเสร็จแล้วก็เอาทรัพย์สินไปกู้กับธนาคารจีนและไปคืนให้กับกองทุนสวัสดิการสังคมเราก็เลยสร้างบนที่ดิน12ไร่ ใหญ่มาก ถ้าเดินเดินทั้งวัน ผมคิดว่าทำเลดีมากในเซี่ยงไฮ้
รับรางวัลได้ Friendship Awards
คุณธนากรเล่าต่อว่าผมเป็นคนแรกที่ได้ Friendship Awards เป็นรางวัลที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อจะมอบให้ผู้เชี่ยวชาญรัสเซีย สมัยที่รัสเซียมาช่วยจีนสร้างสะพาน สนามบินตอนคอมมิวนิสต์เกิดใหม่ๆ รัฐบาลก็ตอบแทนด้วยเหรียญนี้ พอหลังจากเปิดประเทศก็มีการสำรวจ ในปีที่ผ่านมามีใครที่ contribute ให้จีนผมก็เป็น1คนที่ถูกคัดไปและมีการมอบให้ที่ศาลาประชาคมโดยนายกรัฐมนตรีเป็นคนมอบ พิธียิ่งใหญ่มากและผมก็ได้อีกเหรียญเป็นเหรียญประชาชนกิตติมศักดิ์ของนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งปกติเค้าจะมอบเหรียญแมกโนเลียก่อนแต่ผมข้ามขั้นเลย หลังจากนั้นเค้าก็ให้กรีนการ์ดผม เค้าโทรมาเลยบอกผมถูกตรวจสอบหมดแล้วมีสิทธิ์จะได้กรีนการ์ด ไม่เคยมีความผิด ไม่เคยทำอะไรเสื่อมเสียเสียภาษีเต็มและสร้างคุณูปการให้เมืองเพราะผมเป็นรองนายกสมาคมนักธุรกิจต่างชาติในนครเซี่ยงไฮ้ เซี่ยงไฮ้ก็ถือว่าเราไปช่วยเค้า ผมก็บอกยินดีถ้าไม่มีเงื่อนไขอะไรก็ยินดีนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้เป็นคนมอบให้ออกทีวีด้วย
53 ปี กับความภูมิใจ
53 ปี ที่คุณธนากรอยู่ที่ซีพีอะไรทำให้คุณธนากรอยู่ซีพียาวนาน คุณธนากรบอก คือผมคิดว่าซีพี ท่านประธานธนินท์เป็นคนให้โอกาส เรามีความสบายใจที่จะไปทำงานในสิ่งที่เราอยากทำคือไม่ต้องกลัวว่าเราทำผิดแล้วจะมีปัญหา ผมสังเกตุว่าท่านประธานธนินท์ ถ้าคุณมีไอเดีย มีความคิดและ ทำด้วย ถ้าผิดแล้วรู้จักปรับปรุง แต่ขออย่างเดียวคุณอย่าทำผิดเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ถ้าทำเพื่อประโยชน์ของบริษัท ทำแล้วผิดพลาดรู้จักแก้ไข
อันนี้เป็นจุดที่เราอยู่แล้วสบายใจและสองประธานธนินท์เห็นอะไรดีแล้วสนับสนุนเต็มที่ เป็นคนที่ถ้ามีปัญหาไปหาท่านจะเคลียร์ให้ทันที นี่คือความจีเนียสของเขา เค้าเห็นชัด อย่างยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องรถยนต์MG ตอนที่ผมเอารถยนต์MGเข้ามาทำ มีคนบอกว่าไปไม่รอดแน่นอน คุณจะไปสู้โตโยต้าได้ยังไง สู้ฮอนด้าได้อย่างไร แต่เราก็มองเห็นว่าเซี่ยงไฮ้เป็นบริษัทที่ใหญ่กว่าซีพี ปีหนึ่งมีผลกำไรแสนกว่าล้านและมีนโยบายที่จะออกมาแข่งกับต่างชาติโดยที่เค้ามีพื้นฐานทางเทคโนโลยี ถ้าเค้ามาหนุนเต็มที่ไปได้แน่ ผมถึงกล้าที่จะมาทำเพราะโนวฮาวเค้าซื้อมาจากอังกฤษ เค้าซื้อทั้งโรงงานกระทั่งคนด้วยแล้วเค้าก็พัฒนาและเป็นนโยบายของจีน one belt one road ที่ออกมา
ผมคิดว่าถ้าเราร่วมมือกันอย่างดีให้เค้าเข้าใจตลาดไทยมากขึ้นมีโอกาสที่จะสำเร็จเราถึงจะทำ พอ ณ วันนี้ผมก็บอกว่า 7ปี ที่เราขาดทุน จริงแล้วเราไม่ขาดทุนหรอกขาดทุนทางบัญชี แต่การสร้างเครือข่าย 140 แห่ง เป็นเงินมหาศาล และชื่อเสียงรถ 120,000 คัน ที่วิ่งบนถนนนี่คือตัวทำเงินให้คุณ เพราะรถใช้ไปก็ต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ ตัวที่ 2 ที่เราสำเร็จเพราะว่ารถยนต์ไฟฟ้า เทรนด์รถไฟฟ้ากำลังมา เพราะจีนฉลาดตอนนี้บังคับให้ใช้รถไฟฟ้า รัฐบาลอุดหนุนให้ 40% แต่รัฐบาลไม่ใช้เงินในกระเป๋าเราแต่ชดใช้เงินในอากาศ
เพราะจีนรู้แล้วว่าขืนปล่อยอย่างนี้ไปจีนจะมีมลภาวะมากมาย PM2.5 คนจีนจะกินยามหาศาล ซื้อยาจากอเมริกา อังกฤษ คนจีนจะเป็นคนป่วยตื่นขึ้นมาก็ฟึดฟัด นี่คือตัวที่เสียหายที่มองไม่เห็น ตัวที่สองไฟฟ้าที่หายไปในอากาศ โรงงานไฟฟ้า1โรงเราใช้ไฟฟ้าจริงๆเราใช้อย่างมาก 14ชม. อีก 10ชม.ฟรี เพราะไม่สามารถปิดเครื่องปั่นไฟฟ้า คุณก็เอามาใช้ชาร์จไฟรถยนต์ เค้าเอาเงินจากอากาศมาช่วยคุณ
ข้อที่3 คนจีนคิดว่าถ้าเอารถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาป ยังไงก็ตามหลังคนที่ทำก่อน อย่างญี่ปุ่น เยอรมันทำมาร้อยปี เราเพิ่งทำก็ต้องตามหลัง คนจีนมีคำพูดว่าเปลี่ยนช่องทางเพื่อแซงรถเพราะอยู่ทางเดิมแซงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจีนเวลานี้มีส่วนแบ่งตลาดรถไฟฟ้า 50%ของโลก เพราะฉะนั้นปริมาณผลิตมากขึ้น ต้นทุนก็จะต่ำ ต่อไปอาจถูกกว่ารถที่เราขับ ตอนนี้ผมประกัน8ปี แบตเตอร์รี่เสียเปลี่ยนให้เลยนี่คือจีน จะมาเป็นนับเบอร์วันได้ ลดมลภาวะ ประหยัดพลังงาน ถ้าคิดทั้งแพคเกจคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะฉะนั้นโครงการที่ทำกับMGจะสำเร็จแน่นอน ประธานหนุนเต็มที่ ท่านประธานเป็นคนที่มีจิตวิทยาสูง ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงาน ท่านประธานเป็นคนที่มองการณ์ไกลเพราะฉะนั้นมีนวัตกรรมใหม่ๆทำเถอะ ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ นี่คือจุดที่ดึงดูด
และข้อสำคัญที่สุดท่านประธานเป็นคนที่ดูแลเอาใจใส่ลูกน้องมาก ไม่ทิ้ง เป็นคนที่ให้ความสนใจมาก ละเอียดมาก ดูวิธีการรับแขกของท่านก็เห็นแล้ว อย่างแขกต่างประเทศมาอยู่ที่โรงแรม ซึ่งจริงๆท่านประธานไม่เกี่ยวแต่ท่านโทรมาถามคุณให้เค้าอยู่โรงแรมอะไร ห้องอะไร มีส่งดอกไม้ไปหรือเปล่าและบางทีเราขอรถท่านประธานมารับแขก ลูกน้องก็กันท่าเอารถไม่ค่อยดีมา ดีเก็บไว้ ท่านบอกทำไมไม่เอารถดีมารับแขก ลูกน้องบอกเดี๋ยวท่านประธานมีแขกมาไม่มีรถ ปรากฏว่าบังเอิญแขกชุดนี้ท่านประธานต้องการกินข้าวด้วย พอทานข้าวเสร็จลงมาส่งเห็นรถที่รับแขกไม่ดีท่านจะเอ็ดว่าทำไมไม่เอารถดีๆมารับแขกชุดนี้ ท่านบอกว่าถ้าแขกชุดนี้มาคุณใช้เงิน 95บาทแล้วเค้าไม่แฮปปี้กลับไปเท่ากับศูนย์ ทำไมคุณไม่ใช้100 เค้ากลับไปประทับใจคิดถึงเราทุกวัน ใช้ 95 กลับไปแล้วเค้าไม่ประทับใจก็ไม่มีประโยชน์ ท่านเป็นคนจีเนียสและเอาใจใส่ทั้งแขก ทั้งลูกน้องเพราะฉะนั้นซีพีเราอยู่ถึงขั้นเป็นเรื่องของความผูกพัน
ผมเคยยื่นเกษียณตอนอายุ 55 ท่านก็ให้เอาใบเกษียณคืนมา 60 ผมก็ไปยื่นอีกก็นัดไปคุยท่านบอกทำไมผมยังแข็งแรงอยู่ ผมยังไม่เกษียณคุณจะเกษียณได้อย่างไร ผมก็ไปหาท่านประธานจรัญ ท่านก็ยังเกษียณเลยท่านจรัญบอกผมเกษียณเพราะมีน้องเก่ง คุณมีหรือเปล่า ตอนนี้เลยอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน เรามี 8 เซียน คนที่อายุมากสุดคือคุณเยื้อน เกษียณแล้ว เป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่ง ทำเรื่องไก่ไข่ อายุน่าจะ 99 คนที่สองคุณมิน เบอร์สามคุณประเสริฐ เบอร์สี่ดร.หลิน เบอร์ 5 คุณธีรยุทธ เบอร์ 6 คุณเอี่ยม เบอร์ 7 ผม และ ก็คุณถนัดที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่เราสังสรรค์กันมา 20 กว่าปี ผมยังเอารูปให้ประธานธนินท์ดู ตอนนี้เหลือ 7เซียนเพราะเสียชีวิตไป1 ผมบอกว่า8เซียนทำงานซีพี 400 กว่าปี ตอนนี้เหลือ 7เซียน ทุกๆเดือนเรายังเจอกันสังสรรค์กัน ทำงานเราทะเลาะกันบ้างแต่ไม่มีอะไร พวกเราใจกว้างพอว่ากันไป ว่ากันมา เรื่องเล็ก โดยมีประธานธนินท์เป็นศูนย์กลาง ท่านเป็นคนแฟร์และอยู่กันไม่เหมือนนายกับลูกน้องอยู่กันเหมือนกับพี่น้องกัน อยู่กันด้วยความผูกพัน
ฝากคนรุ่นใหม่
จะฝากอะไรให้คนรุ่นใหม่ซีพี คุณธนากรบอกว่า “ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จะทำแบบคนรุ่นเก่าคงไม่ได้เราต้องยอมรับว่าทุกเจเนเรชั่นมันเปลี่ยนคนรุ่นใหม่เวลานี้ผมคิดว่าต้องคิดให้มากในเรื่องของเทคโนโลยี ถ้าจะทำให้ซีพีเจริญต้องให้ความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีและสำคัญที่สุดยังมีอีก2เรื่องที่ท่านประธานพูด มันต้องซื่อสัตย์และต้องขยันผมไม่เห็นเลยนะในโลกนี้คนขี้เกียจ คนไม่ซื่อสัตย์จะเจริญ และทีมเวิร์กเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทำงานคนเดียวคงไม่ไหว แล้วก็ต้องใจกว้าง ยิ่งจะเป็นผู้นำยิ่งต้องใจกว้าง ใจแคบไม่ได้ ต้องดูแลน้องๆก็เหมือนกับน้องเราเองและให้คำแนะนำเค้าให้โอกาสเค้าผิดพลาดอย่าไปซ้ำเติมเค้า ผิดพลาดก็ให้แก้ไขแต่ขออย่างเดียวคุณอย่าผิดพลาดเพราะเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง เพราะด้วยเหตุเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง อย่างนี้ไม่ได้ บริษัทไม่เจริญ และอะไรที่คนอื่นทำอย่าไปตามเค้า เราต้องเปลี่ยนช่องแซง เราต้องคิดใหม่เปลี่ยนช่องทางใหม่แต่ขออย่าโกง เจริญแน่นอน”