ซีพีกับการมีส่วนร่วมพัฒนาพันธุ์ปลานิลที่ทรงพระราชทาน

มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่ CP Story ขอนำมาถ่ายทอดสู่ชาวซีพีร่วมภูมิใจ จากการที่ผู้บริหารเครือฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว พระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้ง และได้มีพระราชกระแสรับสั่งแนะนำให้นำปลานิลมาทดลองเลี้ยงกับกุ้งกุลาดำ เนื่องจากเห็นว่าปลานิลมีความสามารถในการกินแพลงค์ตอนและอินทรีย์สารในน้ำได้เป็นอย่างดี แต่มีปัญหาที่ทรงเป็นห่วงคือน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำจะเป็นน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำปลานิลที่เป็นปลาน้ำจืดมาใช้เลี้ยงในน้ำกร่อยได้

คณะผู้บริหารของเครือซีพีจึงได้นำพระราชดำริดังกล่าวไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมและนับแต่นั่นเป็นต้นมา นักวิชาการของเครือฯจึงได้พยายามศึกษาหาวิธีการที่จะเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อยให้เป็นผลสำเร็จ

จากการศึกษาวิจัยค้นคว้าของนักวิชาการของบริษัทได้พบว่าหากค่อยๆปรับระดับความเค็มของน้ำเค็มให้แก่ลูกปลาขึ้นทีละน้อยๆ ก็จะสามารถเลี้ยงปลาในน้ำกร่อยได้ โดยปลายังคงสามารถเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกับน้ำจืด อาจจะแตกต่างกันบ้างในด้านผลผลิตต่อไร่จะลดน้อยลงบ้าง แต่ก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนักและพบว่าจากการทดลองเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อยปลานิลจะมีเนื้อแน่น มีรสหวานอร่อยกว่าปลานิลที่เลี้ยงในน้ำจืด ถือเป็นความรู้ใหม่ของการเลี้ยงปลานิลในบ้านเรา

และนอกเหนือจากการศึกษาการเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อยแล้ว นักวิชาการของบริษัทยังทำการศึกษาคัดเลือกสายพันธุ์ปลานิลจากแหล่งต่างๆที่มีการเลี้ยงในประเทศไทยทั้งส่วนราชการและเอกชนเพื่อจะได้หาพันธุ์ปลาที่เหมาะสมใช้เลี้ยงในบ้านเราในสภาพที่แตกต่างกัน

และจากการศึกษาของนักวิชาการบริษัทในเรื่องสูตรอาหารปลานิลซึ่งอาหารถือเป็นต้นทุนหลัก 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด บริษัทสามารถผลิตอาหารเลี้ยงปลานิลที่มีอัตราแลกเนื้อในอัตรา 1 กิโลกรัมเนื้อต่ออาหารที่ใช้ 1.3-1.4 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นอัตราการแลกเนื้อที่ดีมากในเวลานั้น

ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทยังศึกษาวิจัยด้านการตลาดควบคู่กัน มีการตั้งโรงงานแปรรูปปลานิลและห้องเย็น

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ผู้บริหารของเครือฯและเจ้าหน้าที่ด้านวิชาการของบริษัทได้น้อมรับฯมาดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประเทศชาติ ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้บริหารและนักวิชาการของบริษัท

ที่มา:สารเจริญโภคภัณฑ์ ม.ค.-มิ.ย.2537