ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร กรณีศึกษาของซีพี

วันนี้ผมไปเก็บตกสาระดีๆ ที่มากด้วยคุณค่าจากการบรรยายพิเศษเรื่อง
“ประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศจีน” ของท่านธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และรองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ พลเมืองกิตติมศักดิ์ของเซี่ยงไฮ้ และอีกมากมายหลายตำแหน่ง ที่สโมสรโรตารี บางรัก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2021 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน มาแบ่งปัน

เก่งหรือจะสู้เฮง ท่านธนากรฯ เริ่มต้นด้วยการเล่าที่มาที่ไปว่าชีวิตของท่านไปเกี่ยวข้องกับจีนได้อย่างไร ทั้งที่ คุณพ่อปลูกฝังอยากให้เปิดร้านขายยา “ไม่เหม็น ไม่เน่า” โดยสอดแทรกความเชื่อที่ว่า “เฮงดีกว่าเก่ง”

ท่านมีพื้นเพเป็นคนหาดใหญ่ แต่เพราะเศรษฐกิจภาคใต้ที่ไม่ค่อยดี ท่านก็เลยเข้ามาฝึกงานและถือโอกาสศึกษาลู่ทางธุรกิจที่กรุงเทพฯ “ยา” ก็ทำให้ท่านโชคดีได้พบและเข้ามาทำงานดูแล “ยาสัตว์” กับท่านธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือในปัจจุบัน

ด้วยเพราะความสามารถในด้านภาษาจีนเป็นพื้นฐาน ท่านก็เลยได้รับมอบหมายให้ไปดูแลการทำตลาดอาหารสัตว์ที่ฮ่องกงในเวลาต่อมา

แต่อาจเป็นเพราะขายดีจนราคาอาหารสัตว์ในประเทศแพงขึ้น และก็มีคนออกมาประท้วง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของไทยขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์และห้ามส่งออก บริษัทก็เลยปรับกลยุทธ์เป็นการนำเอาวัตถุดิบ อาทิ ข้าวโพด ปลาป่น และรำจากไทยไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ที่ฮ่องกงแทน

ปี 1975 ไทยและจีนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ต่อมาเมื่อเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอกในปี 1978 จีนก็ใช้แนวคิด “คลำหินข้ามคลอง” คือ ทยอยเปิดทีละพื้นที่ทีละส่วนเพื่อลดความเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ และเชิญชวนการลงทุนต่างชาติ เพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศ

40 ปีของการพัฒนาจีน จีนทุ่มเต็มที่ พร้อมกำหนดแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ช่วงเวลา

ช่วง 10 ปีแรก เริ่มจากเมืองทางตอนใต้แถมมณฑลกวางตุ้ง และลุ่มแม่น้ำเพิร์ล (จูเจียง) โดยจีนเริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง อันได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา และเซียะเหมิน เพื่อรองรับการลงทุนจากฮ่องกง มาเก๊า ไทย และไต้หวัน ตามลำดับ

การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในยุคแรกนับว่าประสบความสำเร็จมาก โดยในระยะแรก เซินเจิ้นและจูไห่ไปเร็ว ซัวเถาช้าสุด ขณะที่เซียะเหมินอาจเริ่มช้า แต่ก็พัฒนาโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ทำให้วันนี้ใครไปก็จะบอกว่าเซียะเหมินสวยงามเหมือนกับสหรัฐฯ หรืออังกฤษ

โดยที่คนในพื้นที่ตอนใต้ค้าขายเก่ง ซึ่งซีพีมองเห็นเป็นโอกาส จึงจับมือกับคอนทิเนลตัลเกรน จำกัดของสหรัฐฯ ขยายเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เซินเจิ้น โดยจดทะเบียนนิติบุคคลต่างชาติเป็นรายแรกในจีน “ทะเบียนพาณิชย์ 0001” ซึ่งท่านก็โชคดีอีกครั้ง โดยได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้จัดการคนแรก และประจำอยู่ที่นั่นราว 3 ปี

ท่านธนากรฯ ค่อยๆ ถอดรหัสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นภาพอย่างชัดเจนทีละเล็กละน้อย “ในยุคนั้น จีนยังล้าหลังอยู่มาก ผมโชคดีที่ได้เห็นจีนตั้งแต่ยุคที่ยังล้าหลัง เพราะปิดประเทศไปอย่างน้อย 30 ปี”

ชีวิตในสมัยนั้นไม่ได้สะดวกสบายดังเช่นทุกวันนี้ แทบหาที่พักดี ๆ ไม่ได้ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ที่เซินเจิ้นในยุคนั้น ก็ใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาประกอบกันและติดเครื่องปรับอากาศเป็นที่พัก และไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น เราต้องถือกระติกน้ำร้อนขึ้นตึกสูง 4-5 ชั้นอยู่ตลอด

หรือในยุคนั้น พวกเราที่ไปซัวเถาก็บอกว่า ต้องกินแอปเปิ้ลเน่าอยู่เสมอ เหตุเพราะรัฐบาลควบคุมเรื่องการเพาะปลูก ราคา การกระจาย และการขายสินค้า จีนมีแอปเปิ้ลสดดีๆ ออกมาทุกวัน แต่เนื่องจากรถเข็นขายผลไม้เป็นของรัฐ และกำหนดให้ “ของมาก่อน ขายก่อน” ทำให้ต้องขายผลไม้เก่าที่ใกล้เน่าก่อน และเก็บผลไม้ดีไว้ขายในอนาคต ซึ่งกว่าที่ผลไม้เดิมจะขายออกหมด แอปเปิ้ลใหม่ก็ใกล้เน่าแล้ว จะขอซื้อของใหม่ที่เก็บอยู่ก็ไม่ยอมขาย

แต่จีนก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนไม่น่าเชื่อ จีนทันสมัยมาก ยกตัวอย่างเช่น รถแท็กซี่ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ไม่รับเงินสดแล้ว

ท่านธนากรฯ ยังเล่าถึงอุปสรรคในการประกอบธุรกิจในยุคแรกในจีนว่าไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ การไปลงทุนของซีพีก็ประสบปัญหามากมาย อันเนื่องจากกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติของจีน อาทิ การจำต้องซื้อลิ้นจี่และต้นไผ่จากเกษตรกรเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินกับเกษตรกรและรัฐบาลท้องถิ่น

หรือแม้กระทั่งปัญหาจากการบูรณาการการทำงานข้ามหน่วยงานที่เกิดขึ้นยาก ในช่วงนั้น พวกเราอยู่เซินเจิ้น 3 ปีเหมือนอยู่นาน 10 ปี การเดินทางเข้าไปทำงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นก็เสียเวลามาก แต่ละหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกัน

นายกเทศมนตรีในยุคนั้นเปลี่ยนบ่อย ผู้อำนวยการแต่ละกองมากจากหลายมณฑล นอกจากเก่งแล้ว ยังมีเส้นดี มีผู้สนับสนุนเบอร์ใหญ่อยู่เบื้องหลัง ทำให้การทำงานร่วมมือกันไม่ค่อยเกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อการพัฒนา และการลงทุนของภาคเอกชน

ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่ซีพีลงทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงสุกรใหม่ที่เซินเจิ้นได้ไม่นาน ก็ได้รับแจ้งจากอีกหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นว่า ทางการจีนจะตัดถนนผ่านพื้นที่ของเรา ในท้ายที่สุด เราก็ต้องย้ายโรงงานใหม่ เสียหายมหาศาลแต่ก็ต้องยอม

หรือซีพีนำเสนอโครงการลงทุนเลี้ยงไก่ครอบครัวละ 10,000 ตัวในจีน เจ้าหน้าที่ของจีนก็ไม่เชื่อว่าทำได้ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ซีพีต้องเชิญคณะผู้แทนมาดูงานและฝึกอบรมที่ไทย และต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ซีพีพร้อมนำเอาเทคโนโลยีและของดีมีคุณภาพไปสู่จีน

แต่ยังดีที่ในยุคนั้นไก่ในจีนยังไม่พอต่อความต้องการในการบริโภค จึงขายหมด และขายได้ราคา ทำให้กิจการสามารถมีกำไรมากพอที่มาชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูงเหล่านี้ได้

ปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาของจีน เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จ ท่านธนากรฯ ให้ข้อคิดเห็นว่าเกิดขึ้นเพราะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน

ท่านธนากรฯ เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และสอบถามความคิดเห็นของท่านเติ้ง ต่อประเด็นการพัฒนาคนของจีน ซึ่งจีนส่งคนไปศึกษาต่อในต่างประเทศปีละ 2,000 คน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น …

แม้กระทั่งในที่ประชุมกระทรวงที่ดูแลกิจการจีนโพ้นทะเลก็เคยรายงานว่า เพียง 1 ใน 3 ของคนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศที่เดินทางกลับประเทศ ราว 1 ใน 3 ไม่กลับประเทศ และที่เหลือเดินทางไปมาระหว่างจีนกับต่างประเทศ

แต่ท่านเติ้งก็มองขาดว่า เมื่อจีนพร้อมและมีเวทีให้คนที่ไปศึกษาต่อเล่น คนเหล่านี้ก็จะกลับจีน เพราะไม่มีใครอยากเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองในต่างประเทศหรอก

แรกๆ กลับมาก็ยึดหนังสือเดินทาง จะเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้งก็ต้องมาทำเรื่องขอหนังสือเดินทาง ครั้งที่สอง ก็ให้ถือพาสปอร์ตไว้ แต่จะเดินทางต่างประเทศก็ต้องมาขออนุญาต หลังจากนั้น ก็เริ่มผ่อนคลายให้เดินทางต่างประเทศได้โดยเสรีมากขึ้นโดยลำดับ

นอกจากนี้ เรายังเห็นจีนกล้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากผู้บริหารที่มีอายุ 70 ปีมาใช้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่งอายุแค่ 35 ปี และรองนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ อายุ 39 ปีในปีต่อมา แม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจ และกิจการเอกชนจีน

คนจีนฉลาดมาก ท่านเคยสนใจอยากร่วมลงทุนในโรงงานปั่นด้ายในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งยังกำไรดีอยู่ แต่ปรากฏว่า กิจการเหล่านี้ตัดสินใจย้ายเข้าไปลงทุนในพื้นที่ตอนใน ซึ่งพอแลกเปลี่ยนมุมมองกันกับผู้บริหารระดับสูงของโรงงานปั่นด้ายเหล่านี้ก็ได้รับคำตอบว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาแล้วว่า เซี่ยงไฮ้จะเป็นเมืองทันสมัยในอนาคต จะเป็นเมืองการค้า การบิน ท่องเที่ยว และเทคโนโลยีชั้นสูง ขณะที่ธุรกิจเหล่านี้เป็นประเภทแรงงานเข้มข้น ซึ่งมีเวลาเหลืออยู่ไม่นาน ถ้าไม่รีบย้ายตอนนี้ ก็จะไม่มีราคา

ท่านธนากรฯ เปิดเผยอีกว่า จีนมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คิดเก่ง รวดเร็ว และจริงจัง ในความพยายามที่จะพัฒนาเขตเมืองใหม่ผู่ตง ท่านเติ้ง ส่งรองนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญจำนวน 40 คนไปร่วมศึกษาและวางแผนการพัฒนาเขตผู่ตงเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้น ก็สรุปเรื่องเสนอปักกิ่งเพื่ออนุมัติโครงการพัฒนาเขตเมืองใหม่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้

จีนในช่วงนั้นเป็นโรงงานของโลก จีนผลิตสินค้าราคาถูก และส่งออกไปขายทั่วโลก อย่างไรก็ดี จีนก็ตระหนักดีว่า ถ้าสถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ต่อไป ในระยะยาว จีนจะไม่มีมิตร ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงนั้น จีนเริ่มถูกต่อต้านและกดดัน รัฐบาลต่างชาติเริ่มมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB)

การเข้ารับตำแหน่งของ เจียง เจ๋อหมิน มาพร้อมกับนโยบายให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ (Privatization) การพัฒนาภาคบริการ และการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการเริ่มปูพื้นฐานของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ โดยเชิญชวนกิจการด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน ซึ่งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจอีกมากในเวลาต่อมา

จีนเริ่มขยับเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก อาทิ การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปกที่เซี่ยงไฮ้ และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 รวมทั้งยังหันมาเริ่มสร้างตลาดภายในประเทศ ให้ความสำคัญกับภาคการบริโภคภายในประเทศ

ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มพัฒนาพื้นที่ในซีกตะวันตก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญระหว่างภูมิภาค โดยเอาเฉิงตูเป็นศูนย์กลาง และขยายการพัฒนาเข้าสู่ทิเบต ซินเจียง กานซู่ และอื่นๆ

ในเวลาต่อมา พื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การลงทุนขยายตัวอย่างมาก และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายส่วน

ยิ่งพอจีนประสบวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนในสมัยที่มีท่านเหวิน เจียเป่าเป็นนายกรัฐมนตรี ก็อัดเงินงบประมาณ 4 ล้านล้านหยวนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งเม็ดเงินส่วนหนึ่งก็ลงพื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีน

กิจการเครื่องมือหนัก “แค็ตเทอร์พิลล่า” (Caterpilla) ซึ่งซีพีร่วมมือในจีนอยู่ด้วย ก็นับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะในช่วงนั้น ธุรกิจขยายตัวในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับในพื้นที่อื่น พื้นที่ตอนในเต็มไปด้วยการก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้บริการสินค้าเหล่านี้

ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ด้านซีกตะวันตกก็พัฒนาไปอย่างมาก จากในอดีตที่สนามบินซินเจียงมีขนาดพอๆ กับสนามบินโคราช แต่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าสุวรรณภูมิของเราเสียอีก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเลื่อมล้ำระหว่างคนรวยในด้านซีกตะวันออกของจีนและคนจนที่กระจุกอยู่ในพื้นที่ตอนใน

ช่วง 10 ปีที่สาม จีนเน้นการพัฒนาพื้นที่อ่าวโป๋วไฮ่ โดยเอาเทียนสินเป็นศูนย์กลางการพัฒนาควบคู่ไปกับปักกิ่ง ชิงเต่า และเมืองอื่นๆ

ในยุคนี้ เหวิน เจียเป่า เป็นนายกรัฐมนตรี จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่จีนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงปักกิ่ง การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง และการเป็นเจ้าภาพงานนิทรรศการโลก (World Expo) ณ นครเซี่ยงไฮ้

ช่วง 10 ปีที่สี่ จีนขยายการพัฒนาแถบจงหยวน (พื้นที่ภาคกลาง 5 มณฑล) โดยมีนครเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลาง

จีนมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา จีนลงทุนพัฒนาพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลจนหมดแล้ว จึงเริ่มขยับเข้าสู่พื้นที่ตอนใน โดยรัฐบาลมณฑลเหอหนานลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อดึงดูดการลงทุนในสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงที่มีราคาแพง จีนต้องพัฒนาการขนส่งทางอากาศ

จะเห็นได้ว่า จีนลงทุนก่อสร้างสนามบินเจิ้งโจวแห่งใหม่ที่มีทางขึ้นลงถึง 5 ช่องทาง จำแนกเป็นสำหรับเครื่องบินโดยสาร 4 ช่องทาง และสำหรับสินค้า 1 ช่องทาง และดึงเอาบริษัทด้านลอจิสติกส์ชั้นนำเข้ามาให้บริการ

นอกจากนี้ เหอหนานยังพยายามดึงเอาบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปลงทุนโดยให้มาตรการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น การดึงเอาโรงงานผลิตแอปเปิ้ลของฟ๊อกซ์คอนน์ (Foxconn) ให้ขยายกิจการจากกวางตุ้งเข้าไปที่เหอหนาน เพราะรัฐบาลท้องถิ่นเชื่อมั่นว่า หากดึงแอปเปิ้ลเข้าไปลงทุนในพื้นที่สำเร็จ กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายอื่นๆ ก็จะตามมา

เพียงโรงงานแรกของฟ๊อกซ์คอนน์ที่เจิ้งโจวว่าจ้างแรงงานถึงราว 200,000 คน และเมื่อการลงทุนขยายตัว บริษัทก็มีการจ้างงานเหยียบล้านคนแล้วในปัจจุบัน

เรายังเห็นรูปแบบการส่งเสริมของรัฐบาลจีนที่น่าสนใจ ซึ่งไทยอาจสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการอีอีซีได้ อาทิ การใช้ระบบการเช่าซื้อ ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยไม่มีหรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในระยะแรก เมื่อมั่นใจแล้วก็สามารถซื้ออาคารเหล่านั้นได้

ท่านธนากรฯ ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในจีน เราต้องมีความซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ และ Give and Take ไม่ใช่เอาประโยชน์เพียงอย่างเดียว ซึ่งซีพีก็ใช้เวลาอยู่นานในการพิสูจน์ให้รัฐบาลจีนเห็นถึงความมุ่งมั่นและจริงใจ

นอกจากนี้ การเป็น “เพื่อนในยามยาก” ก็เป็นคุณสมบัติสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน นักลงทุนต่างชาติต่างแตกตื่นและบินออกนอกประเทศกันเกือบหมด แต่ซีพีประกาศนโยบายชัดเจนว่า พนักงานของเราไม่ต้องเดินทางกลับไทย หากเส้นทางไปสถานที่ทำงานต้องผ่านพื้นที่การชุมนุมและไม่ปลอดภัย ก็ขอให้ทำงานจากที่บ้าน

ท่านธนากรฯ เล่าบรรยากาศว่า ช่วงนั้นท่านอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และพักอยู่ที่โรงแรมฮิลตัน แต่ไม่มีน้ำอุ่นให้อาบ ครั้นพอถามไปมาก็ทราบว่า ท่านเป็นชาวต่างชาติคนเดียวที่เหลือพักอยู่ในขณะนั้น

นอกจากซีพีไม่เพียงไม่ถอนการลงทุนจากจีน แต่ขยายการลงทุนในจีนอีกด้วย ในปีนั้น ซีพีตัดสินใจลงทุนเกือบ 10 โครงการในจีน ซึ่งรัฐบาลจีนก็ได้รับรู้ความจริงใจของซีพีจากหลายเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ซีพีก็ดำเนินโยบายในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

ช่วงนั้น ไทยเราจัดคณะผู้แทนเยือนจีน นำโดยดร. สมคิดฯ รองนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-จีนระดับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลไทยควรที่จะสานต่อเพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมระหว่างไทย-จีนในอนาคต

ท่านธนากรฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ด้วยคุณสมบัติและเหตุการณ์ดังกล่าว จึงทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวที่ซีพีเคยเสนอรัฐบาลเซี่ยงไฮ้และถูกเก็บเข้าลิ้นชักก่อนหน้านี้ ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่

เมื่อต่างชาติไม่กล้าเข้าไปลงทุนในช่วงนั้น ซีพีจึงได้รับโอกาสในการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ริมแม่น้ำหวงผู่ 40 เฮกเตอร์ ติดหอคอยไข่มุก แลนด์มาร์กของผู่ตง ซึ่งทุกวันนี้ใครไปเซี่ยงไฮ้ก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องไปชื่นชมสถาปัตยกรรมและความทันสมัยของย่านลู่เจียจุ่ย อาทิ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ และเวิร์ลไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์แบรนด์มอลล์

หรือแม้กระทั่งโครงการพัฒนาที่ดิน 125 ไร่ในเขตเมืองใหม่ใจกลางเมืองลั่วหยาง ก็เกิดขึ้นจากการลงทุนและทำงานร่วมมือกับภาครัฐ ตอนนั้น ผู้บริหารของรัฐบาลลั่วหยางมีแผนจะพัฒนาเมืองใหม่ ประจวบเหมาะกับการเดินทางมาดูงานที่ไทย เราก็พาเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และอื่นๆ

ฝ่ายจีนก็บอกว่าอยากเห็นกิจการเหล่านี้ในพื้นที่เขตเมืองใหม่ดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะการทำที่อยู่อาศัยและขายทำเงินเท่านั้น แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็รู้ว่าราคาตลาดของที่ดินในขณะนั้นอยู่ที่ราว 3 ล้านหยวนต่อหมู่ (ไร่จีน) ธุรกิจเหล่านี้ต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะคืนทุน

แต่รัฐบาลจีนคิดเก่ง เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นและนักลงทุนอยู่รอดได้ รัฐบาลก็กำหนดราคาขายที่ดินไว้ที่ 800,000 หยวนต่อหมู่ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ลงทุนต้องนำเอาห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเข้าไปลงทุนด้วย ซึ่งต่อมาซีพีก็โชคดีได้รับโอกาสนี้

ท่านธนากรฯ เล่าต่อว่า ในอดีต โรงงานผลิตจักรยานยนต์ของซีพีในเซี่ยงไฮ้ผลิตไม่ทันขาย เรื่องการตลาดไม่สำคัญ ผลิตอะไรก็ขายได้ ไม่มีเรื่องการคิดคำนวณต้นทุน มีแต่เรื่องการจัดสรรและกระจายสินค้า แต่ยุคนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

ขณะเดียวกัน คุณสมบัติบางอย่างต้องสร้างและสั่งสมไว้ นอกเหนือจากการหาพื้นที่ที่เหมาะสม การบริหารที่ทันสมัย ทำสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และนำเอาเทคโนโลยีดีๆ เข้าไปลงทุนแล้ว อีก

สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การมีมิตรภาพที่ดีกับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต

ย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ซีพีเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตจักรยานยนต์ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ซึ่งต่อมาบริษัทนี้กลายเป็นกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงที่สุดในเมืองนี้

ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความเป็นมืออาชีพ และความจริงใจที่มีต่อท้องถิ่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ซีพีได้มีโอกาสเข้าไปทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ลั่วหยางในเวลาต่อมา

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จีนได้พัฒนาไปมาก สิ่งสำคัญก็คือ จีนพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน และประสบความสำเร็จไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยทำให้คนจีนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งแห่งความยากจนที่กำหนดไว้ 4,000 หยวนต่อปี

นอกจากความช่วยเหลือของภาครัฐในทางตรงแล้ว จีนยังทำเรื่องเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ โดยให้แนวนโยบายแก่กิจการของรัฐและใช้มาตรการด้านภาษีมาช่วย

จีนให้คนรวยช่วยคนจน โดยเอารัฐวิสาหกิจจากเมืองที่เจริญแล้วไปลงทุนในพื้นที่ที่ยากจน เช่น ให้ SAIC ไปซื้อโรงงานที่เจิ้งโจว ซึ่งช่วยให้เจิ้งโจวเจริญขึ้นมาด้วย

ส่วนหนึ่งของก้นบึ้งทางความคิดก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนต้องการให้ประเทศเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำมาก มีข้าวกิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้ปกครองง่าย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงถึง 39,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุดในโลก

จีนใช้เวลาไม่นาน พัฒนาขีดความสามารถในด้านการผลิตจนกลายเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญด้านรถไฟความเร็วสูงของโลก ออกไปประมูลงานในสหรัฐฯ และยุโรป โดยอาศัยการเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ

เช่น เครื่องยนต์ก็ซื้อมาจากคาวาซากิของญี่ปุ่น และระบบการควบคุมด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็ซื้อมากจากซีเมนของเยอรมนี

นอกจากนี้ จีนยังมีถนนทางด่วน “มอเตอร์เวย์” มีความยาว 155,000 กิโลเมตร เป็น​อันดับ 1 ของโลก สิ่งเหล่านี้ในด้านหนึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ คนมีงานทำ และสร้างเวทีให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ

ในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มเทกับการพัฒนารถไฟฟ้าอย่างจริงจัง ปัจจุบัน จีนผลิตรถไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของโลก

คำถามคือปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“เพื่อให้เกิด จีนชดเชยมหาศาลเลย” จีนตั้งเป้าที่จะผลิตรถไฟฟ้าถึง 7 ล้านคันภายในปี 2025 เมื่อถึงตอนนั้นต้นทุนรถไฟฟ้าจะเท่ากับของรถระบบสันดาป ทำให้อนาคตเราจะได้ใช้รถยนต์ราคาถูกแน่

จีนได้รับประโยชน์ตอบแทนผ่านการลดการนำเข้าน้ำมัน ขณะเดียวกัน การใช้ไฟฟ้าในช่วง 5 ทุ่มถึงตี 5 ก็เป็นเสมือนการใช้ไฟฟ้าฟรี เพราะปกติก็ไม่ค่อยมีใครใช้ หรือใช้น้อยมาก ต้องสิ้นเปลืองไปอยู่แล้ว

ถ้าใช้รถยนต์ระบบสันดาปต่อไป คนจีนก็ต้องเผชิญปัญหา PM2.5 ทำให้คนจีนต้องประสบปัญหาโรคหลอดลมอักเสบ และต้องหาซื้อยาจากต่างประเทศมาใช้ ขณะที่รถไฟฟ้าไม่มีมลภาวะ ทำให้ประหยัดเงินไปได้มาก

ประการสำคัญ จีนต้องการจะก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโลก เพราะจีนไม่มีทางก้าวแซงผู้ผลิตยานยนต์ชาติตะวันตกและญี่ปุ่นที่ทำมาก่อนนับ 100 ปีได้ แต่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลกได้

นอกจากนี้ จีนยังมองไกลถึงเรื่องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ ในกรณีของรถยนต์ รัฐบาลจีนประเมินว่า จีนมีอัตราการใช้ประโยชน์จากรถยนต์เพียงแค่ 15% เท่านั้น และลดความเหลื่อมล้ำของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ ดังนั้น การใช้รถยนต์ร่วมกัน (Car Pool) คือคำตอบ เหมือนที่เราเห็นในธุรกิจจักรยานร่วม (Bike Pool)

ดังนั้น เราจึงเห็นจีนพยายามผลักดันเรื่องเศรษฐกิจแบ่งปัน (Shared Economy) ซึ่งรถไฟฟ้า และรถไร้คนขับ จะเป็นแนวทางที่จีนจะนำมาพัฒนาใช้ในวงกว้างในอนาคต

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รัฐบาลจีนจึงอุดหนุนอย่างเต็มที่ จากการสำรวจราคาขายปลีกรถไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งในจีนพบว่าอยู่ที่ราว 70,000 หยวน แต่ต้นทุนอยู่ที่ 120,000 หยวน

เท่ากับว่ารัฐบาลจีนชดเชยถึงคันละ 50,000 หยวนเพื่อช่วยพัฒนาการผลิตแบ็ตเตอรี่ แต่การชดเชยเช่นนี้จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็ใช้ป้ายทะเบียนรถพิเศษเป็นสีเขียว ได้สิทธิประโยชน์ในเรื่องที่จอดรถฟรี และได้ป้ายทะเบียนทันที ไม่ต้องรอคิว รวมทั้งประหยัดค่าธรรมเนียมเบี้ยประกันภัยไป 50%

ขณะเดียวกัน จีนก็เปิดกว้างในการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนก็พยายามเปิดตลาดภายในประเทศแก่สินค้าต่างชาติ

ในอดีต จีนมีงานแสดงสินค้าทั่วในหลายหัวเมืองทั่วจีนเพื่อส่งเสริมการส่งออก อาทิ “แคนตันแฟร์” (Canton Fair) ที่กวางโจว ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่สุดในโลก

แต่ปัจจุบันจีนก็มีงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (China International Import Expo) หรือที่เรียกกันติดปากว่า CIIE ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้ชาวต่างชาตินำสินค้ามาขายในตลาดจีน ซึ่งเป็นการมองการณ์ไกลมาก เพราะถ้าจีนส่งออกอย่างเดียว ก็ไปไม่รอดในที่สุด

แม้กระทั่งเรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็เป็นตัวอย่างของความร่วมมืออันดีที่จีนเป็นพันธมิตร​ที่มีน้ำใจ โดยหยิบยื่นโอกาสให้นานาประเทศ รัฐบาลจีนแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า วัคซีนที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนของชาวโลก ไม่ใช่ของชาวจีนเท่านั้น

โดยท่านธนากรฯ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จีนมีการประชุมสองสภาเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ท่านได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องวัคซีนและแพร่ภาพผ่าน CCTV ซึ่งในท่อนหนึ่งท่านก็พูดถึงการให้ความช่วยเหลือที่จีนจัดสรรวัคซีนให้แก่ไทย 200,000 โดส ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นพี่น้องกันระหว่างสองประเทศ

นี่ขนาดวัคซีนในจีนเองก็ผลิตไม่พอใช้ แต่จีนก็จัดสรรไปให้ความช่วยเหลือกับอินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ นี่เป็นแนวทางของจีนต้องการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศ

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า จีนเอาเงินที่ไหนมาลงทุนมากมาย

ท่านธนากรฯ เล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า ในอดีต รัฐบาลจีนมีเงินทุนจำกัด แต่ก็แก้ปัญหาเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความเจริญอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเปิดให้เอกชนเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และเก็บค่าบริการเป็นการตอบแทน เช่น ลี กาชิงเคยไปสร้างสะพานที่ซัวเถา และเรียกเก็บค่าผ่านสะพาน

และจากนี้ไป จีนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจคล้ายที่ญี่ปุ่นเคยทำมา “จีนเดินคล้ายญี่ปุ่น” แต่ญี่ปุ่นตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก เมื่อผลิตแล้วก็ส่งออกไปขายในตลาดโลก
และต่อมาญี่ปุ่นก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ญี่ปุ่นจึงมีระดับการพึ่งพาตลาดต่างประเทศสูงมาก ดังนั้นเศรษฐกิจโลกก็คือเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั่นเอง

จีนทำเรื่องนี้ผ่านการกำหนดนโยบายเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเล (One Belt One Road) และใช้เรื่องนี้เป็นแนวทางในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ บนพื้นฐานของความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วม

“จีนเปรียบเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ขณะที่ประเทศอื่นเป็นแม่น้ำสายเล็ก และใช้น้ำจากแม่น้ำสายใหญ่อัดเข้าไปในแม่น้ำสายเล็ก เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ก็จะเติบโตขึ้นเอง” ท่านธนากรฯ เปรียบเปรย

การลงทุนของจีนจะหลั่งไหลออกสู่ต่างประเทศอย่างมาก รวมทั้งไทย ประการสำคัญ จีนในวันนี้มีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน เทคโนโลยี และอื่นๆ เมื่อธุรกิจจีนมาลงทุนที่ไทย เราจึงต้องพยายามพัฒนาความร่วมมือกับจีนเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

++++++++++++++++++++++++++++

ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร
โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ที่มา:tnnthailand.com