เมื่อ 30 กว่าปีก่อน การเปิดร้านค้าปลีกที่เป็นร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ที่เน้นการอำนวยความสะดวกและครอบคลุมทั่วประเทศคงเป็นเพียงความฝัน ด้วยข้อจำกัดเรื่องรายได้ต่อหัวของประชากรไทยไม่ได้สูงอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน อีกทั้งเจ้าของแฟรนไชส์ยังตั้งกำแพงรายได้ต่อหัวขอกลุ่มเป้าหมายในขณะนั้นไว้สูงลิบ จนทำให้การเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อในไทย “แทบจะ” เป็นไปไม่ได้เลย
แต่ด้วยแนวคิดนำสมัยของ ประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ยึดหลักการที่ว่า หากต้องการประสบความสำเร็จ โดยมองไปข้างหน้าถึงอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงกิจการค้าปลีกของไทยที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำที่มีร้านค้าปลีกสมัยใหม่ กระจายอยู่ในแต่ละชุมชน ขณะที่ร้านค้าปลีกท้องถิ่นในประเทศไทยค่อยๆ เลิกกิจการไป เนื่องจากในยุคนั้น ลูกหลานที่จบปริญญาต่างไม่มานั่งเฝ้าร้านเหมือนพ่อแม่
ทำความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ในคราวที่ ธนาคารเชส แมนฮัตตัน (ปัจจุบันคือ เจพี มอร์แกน เชส) ได้เข้ามามีส่วนช่วยให้ผู้บริหารซีพี ได้เยี่ยมชมธรุกิจต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าแบรนด์ที่ประธานอาวุโสสนใจที่สุดคือ 7-Eleven ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นของ บริษัท เซาท์แลนด์ คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่อมาได้ขายหุ้นให้แก่ บริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ แห่งประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าของแบรนด์ 7-Eleven ยังเตือนด้วยความหวังดีว่า ถึงสถิติตัวเลขรายได้ของคนไทยว่า ยังไม่พร้อมต่อสำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ หากดึงดันลงทุนไปก็อาจจะขาดทุนเอาได้ ถึงแม้คำเตือนดังกล่าวจะมีเหตุผล แต่ประธานอาวุโสมองว่า ถึงแม้ว่าผู้บริโภคคนไทยจะมีรายได้ต่อคนไม่สูง แต่จำนวนลูกค้าร้านสะดวกซื้อต่อร้านของไทยมีจำนวนมากกว่าร้านสะดวกซื้อในสหรัฐอเมริกาถึง 15 เท่า ยิ่งกว่านั้นค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงานก็ถูกกว่า ด้วยเหตุนี้ การเดินหน้าเจรจากับบริษัทเจ้าของแฟรนไชน์อย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายหลักในการขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศ
จุดเริ่มต้นของร้านสะดวกซื้อในไทย
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 เป็นฤกษ์งามยามดีที่ ซีพี ได้ลงนามซื้อลิขสิทธิ์กิจการค้าปลีกสะดวกซื้อ 7-Eleven จาก เซาท์แลนด์ คอร์ปอเรชั่น และได้เปิด 7-Eleven สาขาแรกในไทยอย่างเป็นทางการ ที่พัฒน์พงษ์ ในปี 2532 โดยเอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่อย่าง 7-Eleven ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย คือ นอกจากจะมีเป้าหมายในการขายสินค้าที่หลากหลายและจำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว ยังให้ความสำคัญในการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยเสนอความรวดเร็วในการบริการ ราคาสินค้าที่สมเหตุสมผล สภาพภายใน และภายนอกร้าน ต้องมีความเป็นระเบียบสะอาดสะอ้าน มีสินค้าจัดวางที่สามารถเลือกหาได้ง่าย คุณภาพอาหาร และสินค้าทุกชนิดต้องมีมาตรฐาน ผ่านการควบคุมอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารต้องมีการระบุวันหมดอายุ และจัดเก็บออกจากชั้นก่อนวันหมดอายุ 1 วัน และที่สำคัญต้องมีสินค้าใหม่หมุนเวียนเข้าออกเดือนละไม่ต่ำกว่า 30 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคตลอดเวลา เช่น เมื่อลูกค้าหิว ก็สามารถเดินเข้าร้านหาอาหารรับประทานได้ทันที จึงถือว่าเป็นสร้างธุรกิจการค้าปลีกแนวใหม่ที่สร้างความประทับใจแก่ผู้บริโภคอย่างมาก จนส่งผลทำให้คนไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวันในที่สุด
หากตลาดยังไม่พร้อม ก็ต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ แนวคิดล้ำสมัยที่ ประธานอาวุโส ได้ใช้พลิกโฉมร้านค้าปลีกในประเทศไทย ได้กลายเป็นโมเดลของผู้ประกอบการ นับตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า จนไปถึงร้านสะดวกซื้อตามชุมชน ที่ไม่ได้เป็นเพียงร้านขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์บริการ One Stop Service ที่ประชาชนทั่วไปสามารถจ่ายชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จนไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างครบวงจร นำมาซึ่งความสะดวกสบายรอบด้านมาสู่กลุ่มผู้บริโภคจนเป็นเรื่องปกติสามัญในวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน
ที่มา:มติชน