50ปี เลขาฯซีพี สู่ 30ปี ของชมรมเลขาฯซีพีรับ 100ปีซีพี

ห้วงเวลาก้าวสู่ 100ปีซีพี มีเรื่องราวและเรื่องเล่าดีๆที่ CP Story ขอนำมาแบ่งปันเพื่อชาวซีพีรับรู้ เรียนรู้ไปด้วยกัน ซีพีมีชมรมเลขาฯด้วยหรือ แล้วซีพีมีเลขานุการคนแรกเมื่อไหร่ เป็นใคร เลขานุการซีพีมีส่วนร่วมขับเคลื่อนซีพีอย่างไร

คุณสุภาวดี ผลพิรุฬห์

คุณสุภาวดี ผลพิรุฬห์ SVP เลขานุการประธานอาวุโส ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ในฐานะประธานชมรมเลขานุการเครือซีพีจะมาไขข้อสงสัยด้วยคำถามแรกว่าเครือซีพีมีเลขานุการตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นเลขาฯคนแรก

ปริศนาเลขาฯคนแรกซีพีคือใคร?

“อันนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัด ทางชมรมก็พยายามสืบค้น ได้แต่คาดเดาว่าน่าจะเป็นเลขาฯท่านประธานจรัญ เจียรวนนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ แต่จากการสอบถามพี่ต้อย เลขาฯท่านประธานจรัญ พี่ต้อยก็พูดเหมือนประมาณว่าพี่แอ๋ว(เลขาฯท่านสุเมธ เจียรวนนท์) มาก่อนพี่ต้อยด้วยซ้ำ แต่ที่ชมรมได้ทำบันทึกไว้ จะเป็นพี่อัจฉรา เลขาคุณเทิดพันธ์ วัฒนลิขิต (ปัจจุบัน คุณพงษ์พันธุ์ วัฒนะลิขิต) ที่ทำงานเป็นเลขาตั้งแต่ปี 2514 ที่มีอายุงานนานสุด ณ ตอนนี้ แต่พอไปสอบถามจากพี่อัจฉรา พี่อัจฉราบอกว่ามีพี่อู๊ด ที่เป็นเลขาของมิสเตอร์เฮน บริษัทอาร์เบอร์เอเคอร์ส (ประเทศไทย) ที่ทำงานเลขาก่อนหน้าพี่อัจฉรา เพราะฉะนั้นยังคงไม่มีข้อสรุปว่าเลขาฯคนแรกของซีพีคือใคร ทางชมรมคงต้องสืบหากันต่อไป” คุณสุภาวดีกล่าวถึงเรื่องที่หลายคนอยากรู้ใครคือเลขาฯคนแรกของซีพี

อย่างไรก็ดี คุณสุภาวดีกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลสำหรับชมรมเลขาฯซีพี ณ ตอนนี้ก็ถือว่าพี่อัจฉรา เลขาฯคุณเทิดพันธ์ วัฒนลิขิต(ปัจจุบัน คุณพงษ์พันธุ์ วัฒนะลิขิต) เป็นเลขาฯที่มีอายุงานมากสุด พี่อัจฉราเริ่มทำงานตั้งแต่ปี2514 ก็ประมาณ 50ปีและก็เป็นเลขาคุณเทิดพันธ์ท่านเดียวมาตลอด 50ปี คุณเทิดพันธ์ยังคงเป็นที่ปรึกษา พี่อัจฉราจึงยังทำหน้าที่เลขาให้ท่านอยู่ เลขาฯคนต่อมาที่มีอายุงานนานรองลงมา น่าจะเป็น คุณสมศรี เลขาฯคุณพงษ์เทพ เจียรวนนท์ คุณสมศรีทำงานตั้งแต่ปี2517 ก็47ปี ตอนนี้ก็ยังเป็นเลขาฯอยู่ คนที่3ก็คือพี่แอ๋วเลขาฯท่านสุเมธ เจียรวนนท์ พี่แอ๋วทำงานเป็นเลขาฯผู้บริหารหลายท่านมาก่อนที่จะมาเป็นเลขาฯท่านสุเมธ ปีนี้ก็เป็นปีที่ 46 ส่วนพี่ต้อยเลขาฯท่านประธานจรัญ ก็จะทำงานมาเป็นปีที่45 ถัดมาก็เป็นพี่สุนทรี เลขาฯคุณอดิเรกก็เป็นปีที่44 พี่หมู-สุวรรณีเลขาฯท่านวัลลภ เจียรวนนท์ ถัดมาก็เป็นพี่หนุ่ย เกศินี เลขาดร.อาชว์ เตาลานนท์ พี่หนุ่ยเป็นเลขาฯ 41ปี แล้วก็มีพี่จิ๋มที่เป็นเลขาอาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน จากสถิติของชมรมฯมีพี่ที่เป็นเลขาฯ 40กว่าปีขึ้นไปประมาณ 11คน ก็มีที่เกษียณไปแต่ที่ยังอยู่มีพี่แอ๋ว พี่ต้อย พี่สุนทรี ชื่อที่กล่าวมาก็ถือว่าเป็นเลขาฯรุ่นแรก รุ่นบุกเบิกของซีพี”

สำหรับประธานอาวุโส คุณสุภาวดีเล่าเสริมว่า เคยได้ยินท่านประธานอาวุโสเล่าว่า คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช เคยช่วยงานเลขาให้ท่าน แล้วต่อมาท่านรับคุณสุเมธ เอื้องพูลสวัสดิ์ จาก ACC มาเป็นเลขา “

คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช

คุณสุเมธ เอื้องพูลสวัสดิ์

เมื่อเลขาฯซีพีรวมพลังเป็นชมรมเลขานุการเครือซีพี

แล้วเป็นมาอย่างไรเลขานุการซีพีจึงมารวมกลุ่มกันก่อนที่จะมาเป็นชมรมเลขานุการเครือซีพีในปัจจุบัน คุณสุภาวดีย้อนเล่าว่า

“ตอนนั้นสุก็เพิ่งกลับมาจากได้ทุนไปเรียนที่เบลเยี่ยม 2ปี ก็ไปเรียนด้านเลขานุการโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนั้นท่านประธานธนินท์ก็มีโครงการจะขยายการลงทุนไปยุโรป จึงเริ่มสร้างรากฐานด้วยการเอาเด็กที่จบสายเอกภาษาต่างๆไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่นเบลเยี่ยม สเปน ตอนนั้นพอดีเรามีออฟฟิศอยู่ที่เบลเยี่ยมแล้ว ท่านเลยส่งให้ไปเรียนต่อที่เบลเยี่ยม ก่อนที่สุจะไปเบลเยี่ยมก็มีพี่ต๊ะ อัจนา เป็นเลขาประธานอาวุโสอยู่ แล้วคุณต๊ะลาคลอดช่วงนั้นพี่ศิริวรรณก็มา ทำให้สุได้รู้จักทั้งสองคน สุก็มาอยู่ประมาณครึ่งปีก่อนที่จะไปเบลเยี่ยมไปเรียนเลขาบริหาร ตอนจะจบทำโครงการเกี่ยวกับสำนักเลขาผู้บริหาร ก็เลยนำแนวคิดนี้กลับมาด้วย กลับมาในปี 2533 ตอนนั้น ไม่ได้มีเลขาฯ จำนวนมากและส่วนใหญ่อยู่ในสายสายเกษตร และเป็นเลขาฯผู้ใหญ่ ที่ซีพีทาวเวอร์ ตรอกจันทร์ ยังไม่มีการฝึกอบรม หรือการเติบโตในสายอาชีพเหมือนกับสายปฏิบัติการ เริ่มจากชวนรุ่นพี่ๆ มาร่วมกันคิดและทำกิจกรรมเมื่อ30ปีที่แล้ว ก็ถือเป็นกรรมการรุ่นแรกๆ อย่างพี่แอ๋ว พี่หมู พี่แต่ม ช่วงแรกๆเราก็รวมตัวเป็นกลุ่มไม่ได้เป็นชมรม “

“แล้วก็เริ่มมาทำกิจกรรมกันในปี2534 แรกสุดคือจัดสัมมนาที่ดาร์กอนฮิล ไปคุยกัน เอาพี่ๆไปคุยกัน ตอนนั้นเราเป็นเด็กสุด เราเป็นเด็กจบใหม่ ขณะที่พี่ๆทำงานกันมา10กว่าปีแล้ว ก็รู้สึกว่ามีช่องว่างอยู่บ้าง แต่ก็สามารถปรับตัวเข้ากันได้ เพราะพี่ๆน่ารัก ก็เลยจัดรวบรวมพี่ๆอาวุโสไปคุยกันว่าเราจะทำอะไรเกี่ยวกับอาชีพเลขาบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้น เราจัดกันที่ดาร์กอนฮิล ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เรียกเป็นชมรม เป็นกลุ่ม ซึ่งความจริงก็ไม่ได้เป็นชมรมแต่ตอนหลังไม่รู้จะเรียกอะไรก็เลยเรียกเป็นชมรม แล้วก็มีการจัดงานครั้งแรก ตอนนั้นพอดีพี่อัจฉราเป็นคนที่ทำงานเลขาฯอายุงานครบ20ปี เราจัดงานปี2534 พอดีช่วงเดือนเมษายน จัดครั้งแรกก็เชิญอาจารย์มาพูดให้ฟัง เพราะตอนนั้นเราคุยกันว่าจะพัฒนางานของเลขาฯให้ดีขึ้นอย่างไร ดังนั้นช่วงแรกๆของการจัดกิจกรรมก็จะเป็นงานพัฒนาสายอาชีพมากกว่า เพราะตอนนั้นยังไม่มีการฝึกอบรมของงานเลขาฯของบริษัทมาก่อน ก็เชิญอาจารย์มาพูดและถือโอกาสว่าพี่อัจฉราเป็นคนแรกที่ทำงานครบ 20ปี ก็เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรที่เป็นการRecognize ยกย่องพี่อัจฉราที่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรมาตั้ง 20ปี เป็นตัวอย่างให้กับน้องๆ ให้คนรุ่นหลังได้ดูว่าพี่เค้าทำงานมาด้วยความตั้งใจ ทุ่มเทมา20ปีแล้ว เราก็เลยจัดง่ายๆ มีเวทีแล้วให้ทุกคนมอบดอกไม้ให้กับพี่อัจฉรา”

“ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการจัด 20ปีของคนที่ทำงานเลขา ก็มีการจัดแบบนี้ตลอดมาและมีเซอร์ไพร์ส เพราะเลขาฯกับเจ้านายทำงานมาด้วยกัน มีความผูกพัน และเป็นอะไรที่นึกไม่ถึง ก็ไปขอคุณเทิดพันธุ์ เพราะเราก็ไม่มีงบ ไม่มีอะไรเลย ก็ไปขอโน้นนี่ ก็ไปขอคุณเทิดพันธุ์ ขอของขวัญให้กับพี่อัจกลายเป็นเรื่องเล่าขานกันมาทุกวันนี้ คุณเทิดพันธุ์เซ็นเช็คมาใบหนึ่งให้ก็เป็นเช็คเปล่า มอบให้พี่อัจ ทุกคนก็โอ้ ตื่นเต้นมาก นึกไม่ถึง ทำให้เห็นอะไรหลายอย่างถึงความไว้วางใจ เซอร์วิชทั้งหลายที่พี่อัจทำให้ตลอด20ปีที่ผ่านมา และกลายมาเป็นธรรมเนียมในการจัดงานวันเลขานุการของทุกปี Recognizeเลขาฯที่ทำงานครบ 20ปีและเราก็ไปขอของขวัญจากเจ้านายเป็นของขวัญให้กับพี่เลขา”คุณสุภาวดีย้อนเวลาให้ฟัง

“หลังจากนั้นก็มีการจัดเป็นแบบสัมมนา ส่วนใหญ่ ฝึกอบรม ไปดูงาน ช่วงแรกๆจะจัดเยอะ ปีหนึ่ง 3-4ครั้ง มีกิจกรรมสนุกสนาน ไปดูงานบ้าง สัมมนาบ้าง จัดอย่างนี้และจัดในกรุงเทพบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง และมีอยู่ครั้งหนึ่งให้พาครอบครัวไปด้วย มีการเชิญเจ้านายมาเป็นเกียรติในงานด้วย จัดอยู่หลายครั้ง แต่ต่อมาก็เริ่มเกร็งๆก็เลยไม่ได้เชิญเจ้านายมา ขอเงินเจ้านายอย่างเดียว และจะมีเซอร์ไพร์ส จากเจ้านายที่เลขาทำงาน ครบ 20ปี เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ละครั้งที่เราต้องทำอะไรเพื่อเซอร์ไพร์สของคนที่ได้รับ 20ปี ซึ่งเลขาฯก็รู้ตัว ส่วนใหญ่ก็รู้ตัว เพียงแต่ว่าไม่รู้ว่าจะมาในรูปไหน”

งานเลขาฯซีพีปี2536 มีหลาย

งานเลขาซีพีปี2537 ลุยห้วยขาแข้ง

งานเลขาฯซีพีปี 2538 ประกวดธิดาเลขาฯ สอดคล้องกับนโยบายใส่ผ้าไทย

งานเลขาฯซีพีปี 2539 ใส่ชุดสีแดงทั้งงาน


งานเลขาฯซีพีปี 2562 “Sec’y Zone #เราต้องรอด”



คุณสุภาวดีเล่าต่ออีกว่าพอจัดมาสักพักก็เริ่มมีกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีระบบ มีการผลักดันให้มีระบบความก้าวหน้าในอาชีพเลขาฯ เริ่มต้นจากเป็นเลขาฯ ก็มาเป็นเลขานุการอาวุโส เลขานุการบริหาร พอแต่ละBUนำไปใช้ ในส่วนกลางเราก็จะไม่จัดด้านวิชาการ ก็มาเน้นจัดงานสร้างความสัมพันธ์มากกว่า ปีละครั้ง เพราะแต่ก่อนจะจัดงานปีหนึ่ง 2ครั้งอาจจะปีใหม่ครั้ง วันเลขาครั้ง แต่ตอนหลังทุกBUก็จัดอบรม เราเลยจัดงานลดลงเหลือปีละครั้ง และเน้นเรื่องความสัมพันธ์ มีการสอดแทรกเรื่องของค่านิยมองค์กร วิสัยทัศน์ นโยบายองค์กรเครือฯ หลังจากที่ประธานอาวุโสให้วิสัยทัศน์มาแล้ว เราก็เอามาตีความเพื่อจัดกิจกรรมของเลขาฯอะไรบ้าง เช่นเป็นเรื่องผนึกกำลัง ค่านิยม สามประโยชน์ ก็จะแทรกในกิจกรรมแต่ละปี ซึ่งบางปีก็อยู่ในกรุงเทพ บางปีก็ออกไปข้างนอก ออกไปข้างนอกก็จะให้ไปดูงาน พ่วงเรื่องการดูงาน ให้เลขาฯได้เรียนรู้ธุรกิจอื่นๆในเครือ ส่วนเรื่องCSRยังทำไม่มากนัก เป็นเพียงการสอดแทรกเป็นกิจกรรม

เลขาฯซีพีกับการเติบโตของซีพี

ถามคุณสุภาวดีว่ามองอย่างไรกับจำนวนและบทบาทของเลขาฯซีพีสอดรับกับการขยายตัวของซีพีคุณสุภาวดีวิเคราะห์ให้ฟังว่าย้อนกลับไปดูประวัติการมีเลขานุการ จะสอดคล้องกับการเติบโตของบริษัท เพราะบริษัทมีการขยายตัวมาก ดูจากช่วงแรกๆ เลขาฯยังมีจำนวนไม่มากนัก เลขาฯที่มีอายุงาน 40-50ปี มี 11คน อายุงาน31-40ปี ซึ่งเป็นเลขารุ่นกลาง รุ่นนี้ก็ประมาณ 38คน เพราะบริษัทมีการขยาย

“ทีแรกก็คิดว่ารุ่นอายุงาน21-30 ปี น่าจะเยอะ มีอยู่ 122คน ตอนที่เราจัดเลขาครบ 20ปี แรกๆก็รู้สึกว่าปีหนึ่งก็มีแค่ไม่กี่คน แค่คน 2 คน 5คนอย่างมาก แต่ตอนหลังมีเป็น10, 20คน แสดงว่าตอนนั้นมีการรับเลขาฯเข้ามามาก แสดงว่าบริษัทมีการขยายงานมาก มีผู้บริหารที่ขึ้นมาในระดับที่จะมีเลขาฯได้มากขึ้น ทีแรกคิดว่ารุ่น21-30 มี122คนคิดว่าเยอะแล้วนะ ปรากฏว่าจัดงานใน20ปีหลัง พบว่ารับของ10กว่าคน แต่ละรุ่นเยอะมาก พอเก็บข้อมูลมาเราคิดว่าบริษัทจะหยุดรับเลขาฯไปช่วงหนึ่ง ปรากฏว่าตอนนี้ เลขาฯอายุงาน11-20ปี มีถึง 135คน ซึ่งมากกว่าช่วงที่ 122 คน และมาอายุงาน1-10ปี มี118คน ก็เริ่มลดลงมา แสดงให้เห็นว่า 20-30 ปีหลังบริษัทขยายมาก มีการรับผู้บริหารเพิ่มขึ้นมามากหรือได้รับการโปรโมทขึ้น”

คุณสุภาวดีขยายความอีกว่าเลขาฯที่ทำงานหลายแบบ เช่นเป็นระดับประสานงานธรรมดา แต่บางคนถึงกับต้องไปประชุมกับเจ้านาย ไปช่วยเจ้านายติดตามงาน ก็จะมีระดับของการให้ทำงานในบทบาทงานที่แตกต่างกัน

“อย่างแรกๆสุก็ทำงานประสานงานอย่างเดียว ตอนหลังท่านประธานก็ให้ร่วมเดินทาง เข้าประชุมด้วย เราก็จะทำงานในเชิงลึกมากขึ้นและเลขาฯก็มีระบบมากขึ้น มีเส้นทางการเติบโตมารองรับ เป็นหนึ่งในวิชาชีพ หลังจากสายเกษตรที่เราผลักดันชมรมขึ้นมา ตอนหลัง เกิดสายธุรกิจค้าปลีก คุณปรางรัตน์ก็ไปผลักดันในส่วนของซีพีออลล์ ก็มีการจัดตั้งของเค้าซึ่งก็เข้มแข็งมาก คือพอมีเลขาฯมากจำนวนหนึ่งก็มีการจัดระบบ มีความก้าวหน้าในวิชาชีพและทางซีพีออลล์ มองบทบาทเลขาฯต้องมีการทำงานที่เหมาะ มีความสามารถในการทำงานกับผู้บริหารด้วยก็มีการฝึกอบรมความสามารถ ส่วนของทรูก็เคยมีการทำเรื่องระบบเลขาเช่นกัน

“ส่วนใหญ่ก็เป็นเครือ ธุรกิจเกษตรแล้วกลุ่มอื่นก็ตาม ส่วนซีพีออลล์เค้าก็ชัดเจน เข้มแข็งมาก มีระบบความก้าวหน้าของสายงานเลย ส่วนของเราไม่ได้เป็นลักษณะทางการ เน้นความสัมพันธ์ แต่ไม่ได้มีผลต่อหน้าที่การงาน ของซีพีออลล์จะมีผลต่อหน้าที่การงานเลย “

ถามคุณสุภาวดีว่าเทียบกับสากลเลขาซีพีเทียบกับระดับโลกได้ไหม พูดยากว่าเทียบได้ไหม แต่ถ้าบอกได้ว่าการรวมกลุ่มของเลขาฯซีพีน่าจะไม่มีในองค์กรอื่น อันนี้เราพูดได้ ตอนนี้ซีพีเรามีจำนวนเลขาฯ อยู่ถึง 400คน ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย อย่างเซเว่นทราบว่ามีถึงร้อยกว่าคน

“แต่ถ้าเทียบอายุคนเป็นเลขาฯในเครือ ก็มีตั้งแต่เด็กจบใหม่จนถึงอายุมากก็ถือว่ามีความต่างในช่วงอายุ แต่พี่ๆเลขาฯในเครือน่านับถือมากๆ ขยันขันแข็งและน่ารัก งานเลขาแต่ละปีจะมีพี่ๆเลขาคอยมาสนับสนุน ถ้าดูประมาณรุ่นอายุ 30 ปลายๆ40 กับนายจะค่อนข้างสนิทกันมากและนายก็ให้ทำทุกเรื่อง เรื่องครอบครัว เรื่องลูก เรื่องทรัพย์สิน เลขาฯจะสนิทขนาดเรียกเจ้านายเป็นอาเฮีย แต่รุ่นหลังๆที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆกับเจ้านายใหม่ๆไม่รู้เหมือนกันว่าความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างไร อันนี้ก็ไม่มีข้อมูล และรุ่นเก่าก็จะมีความเก๋า มีประสบการณ์ มีวิธีการที่มากกว่า แต่เลขาใหม่ก็จะมีความไวในการทำงาน มีไอเดียใหม่ๆ เท่าที่ได้สัมผัสจากรรมการเลขา”

ชมรมฯกับ 100ปีซีพี

ในโอกาสที่เครือฯดำเนินกิจการมา 100ปี คุณสุภาวดีเล่าถึงบทบาทของชมรมฯว่าปีที่แล้วชมรมฯมีแผนจะพาเลขาฯไปชมโครงการฟอเรสเทียร์ พอดีเจอเรื่องโควิดก็เลยหยุดไม่ได้จัด พอมาปีนี้เห็นว่าเครือจะจัดงาน 100ปี ชมรมฯ น่าจะจัดงานที่เกี่ยวกับร้อยปี แต่จะจัดอย่างไร เพราะอยู่ในช่วงที่ยังWFH ต้องไปคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรที่สามารถทำบนออนไลน์ได้มากที่สุด ตอนแรกก็คิดว่าจะจัดวันเดียว ในช่วงสัปดาห์ของวันเลขาโลก เราคิดว่าต้องจัดงานออนไลน์ ให้เลขามาบอกรักซีพีบน VROOM พอประชุมกรรมการกันแล้วคิดว่าคงไม่ง่ายที่จะทำแบบนั้นในครั้งแรกและครั้งเดียว อีกอย่าง เราอยากจะถือโอกาสวันเลขาฯ เปิดตัวเว็บไซต์ของชมรมเลขา ที่เราอยากให้เป็นตัวกลางที่เลขาฯทุกกลุ่มมาจอยได้ ซึ่งขอเล่าย้อนไปนึดนึงว่า เลขาฯก็จะมีเป็นกลุ่มๆและก็จะมีระบบสื่อสารของตัวเองอยู่ มีCPG Connect ,CPF Connect ,True Connect แต่มันไม่มีตรงกลางที่จะทำให้ทุกคนเชื่อมต่อกัน ก่อนหน้านี้เราเคยมีอยู่บนโลตัสโน้ต ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ก็มีไลน์แต่ว่าไลน์ก็ไม่สามารถเอาเรื่องงานไปใส่ เยอะไปก็ไม่ได้ เราก็เลยทำเว็บไซต์ ทำมาได้เกือบปีแล้วเราถึงเอางานวันเลขาฯมาเปิดตัวเว็บไซต์ด้วย

“ต้องบอกว่ากิจกรรมต่างๆที่เราทำต้องอาศัยตัวแทนจากแต่ละกลุ่มมาช่วยกัน เป็นอาสาสมัครและใครที่ชอบทำก็ทำต่อเนื่องกันไป ใครมีข้อจำกัดอะไรเราก็รับคนใหม่เข้ามา กรรมการก็จะมีทั้งคนเก่าคนใหม่ผสมผสานกัน ซึ่งก็มีสัดส่วนใกล้เคียงของเลขาฯเก่า เลขาฯใหม่ก็คุยกันว่าเว็บไซต์ก็มีการแบ่งกันทำ น้องๆมาช่วยกันทำรับผิดชอบเป็นคอลัมน์ๆ มีอะไรที่จะให้เลขาฯดูบ้างเราก็ถือโอกาสในวันงาน 100ปีซีพีมาแนะนำเว็บไซต์ให้เลขาฯรู้จัก เอาตัวนี้มาขับเคลื่อนในการทำกิจกรรมของเรา ทำอย่างไรให้คนเข้ามาในเว็บไซต์ ได้รู้ว่าในเว็บไซต์มีไว้ทำอะไร ทีนี้พอดูแล้วเราคงทำไม่ได้ในครั้งเดียว คนเป็นร้อยคนก็ทำได้ไม่ง่าย เลขาฯบางคนไม่ถนัดใช้vroom ก็เลยต้องให้เวลา และเราเปลี่ยนความคิดใหม่ให้วันเลขาที่จัดงานเป็นแค่วันคิกออฟ และคิดว่าเราอยากทำกิจกรรม เราคงต้องทำกิจกรรมไป1เดือนเพื่อที่จะKeepคนอยู่กับเราไป1เดือน เราก็คิดว่าวันสุดท้ายจะมีคนออนไลน์เยอะๆ มีคนบอกรักซีพี จะทำอย่างไรและในระหว่างทางเราจะทำอะไร”

“ เราจัดกิจกรรมต่อเนื่องมา 30 ปี ช่วงแรกๆ กรรมการทำเองหมดทุกอย่าง พอถึงช่วงหนึ่งกรรมการทำอย่างเดียวไม่ไหว เลยหาออร์แกไนเซอร์มาช่วยเราจัด และกรรมการมาช่วยทำงานบางส่วน ครั้งนี้ เราก็ได้อ๊อฟ ขาประจำมาช่วยกันคิดว่าจะทำกิจกรรมบนออนไลน์อะไรตลอด 1 เดือน และเน้นเกี่ยวกับซีพีร้อยปี เราอยากให้เลขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับซีพี เราใช้ชื่องานว่า เลขาซีพี ร้อยเรียงความดี จัดกิจกรรมออนไลน์ทั้งหมด 10 กิจกรรม ตั้งแต่ 21 เมษาไปจนถึง 31 พค. ทุกสัปดาห์เราต้องมี1กิจกรรม มี theme ใหม่ แต่ละกิจกรรมมีคะแนน และให้สะสมคะแนน เพื่อจะให้คนอยู่กับเราไปจนจบ คิดไปทำไปในแต่ละสัปดาห์ จนได้ข้อสรุปว่ากิจกรรมสุดท้ายจะเป็นกิจกรรมที่เราประกาศผลของเกมส์ที่เราทำกันมา

กิจกรรมที่1 เปลี่ยนคุณให้เป็นเลขาซีพี เป็นกิจกรรมให้เลขาทุกคนเปลี่ยนโปรไฟล์ ให้ทุกคนเริ่มต้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม วิธีการก็เข้าไปที่เว็บไซต์เพื่อโหลดแล้วเอาไปแปะในไลน์ในเฟซบุ๊กอะไรแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เลขาฯรับรู้จะมีงาน100ปีที่คุณจะทำให้บริษัทได้ช่วยกันเผยแพร่ว่าซีพีร้อยปี ซีพีร้อยเรียงความดี เลขาฯแค่แปะโปรไฟล์ก็เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู

กิจกรรมที่2 หนึ่งในร้อยความดี มีการระดมทุนที่จะทำโรงพยาบาลสนามของรพ.จุฬาฯ ก็เลยถือโอกาสชวนเลขาฯให้ร่วมกันบริจาคไปช่วยซื้อของเข้าโรงพยาบาลสนามที่จุฬา ให้รวมกันกลุ่มละ 5 คน ออกเงินเท่าๆ กัน ซื้อของ 1 ชิ้น รวมทั้งหมด 20 ชิ้น เป็นไมโครเวฟและรถเข็น ที่เราผนึกกำลังจัดซื้อจาก 24 shopping และแม็คโคร

กิจกรรมที่3 หนึ่งในร้อยเรื่องราว เป็นกิจกรรมตอบคำถามเกี่ยวกับซีพี เริ่มต้นตั้งแต่วันแรก เก็บคะแนนทุกวัน จบครบ 40 ข้อ ทุกคนก็เข้าไปตอบในเว็บ อันนี้ก็ไปประกาศผลวันสุดท้าย

กิจกรรมที่4 เรียกว่าหนี่งในร้อยเว็บ การตั้งชื่อเราก็พยามไปเกี่ยวข้อง100ปี เป็นการแนะนำเว็บของเราให้เลขาฯรู้จัก ให้เข้าไปอัพเดทชื่อตัวเอง ชื่อเจ้านาย

กิจกรรมที่5 3 Sec’y tips เป็นกิจกรรมวันเลขา ให้ช่วยบอกเคล็ดลับ 3อย่างที่เป็นคติของแต่ละคนในการเป็นเลขาฯ มีอะไรบ้างให้ส่งเข้ามาก็มีการให้เข้าไปโหวตในเว็บ

กิจกรรมที่6 ร้อยเรียงใจทดแทนคุณ พอดีช่วงนั้นมูลนิธิธนินท์ -เทวีกำลังทำเรื่องรับบริจาคเพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจ เราก็เลยไปช่วยเรื่องนี้กัน คล้ายกิจกรรมที่3 รวมตัวกัน 5 คน บริจาคกลุ่มละ 5,000 บาท เรากะว่า 40 ทีม เราจะซื้อเครื่องช่วยหายใจได้ 1 เครื่อง สองแสนบาท ปรากฏว่า พอเปิดให้เลขาฯดึงเจ้านายมาร่วม เราได้เงินบริจาคมา 4ล้านกว่าบาท เกินเป้าหมายไปมากมาก

กิจกรรมที่7 หนี่งในร้อยแบรนด์ ชวนเลขาฯให้รีวิวสินค้าในเครือ สร้างแบรนด์เลิฟ แบรนด์อแวร์เนสให้เลขาฯ กิจกรรมนี้ ก็เหนือความคาดหมาย เลขาฯมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาก รีวิวสินค้ามาอย่างสนุกสนาน ส่งมาประมาณ 20คลิป สนุกมากเป็นอะไรที่ไม่คิดว่าเลขาฯทำได้ อย่างกรณีเมจิ ทำจนกระทั่งเจ้านายให้เป็นพรีเซนเตอร์ต่อ หรือกรณีของพี่หนิวกับผู้ช่วยรีวิวสินค้าพวกพลาสติกก็ถูกนำไปใช้ในงานของเค้า เป็นการคิดนอกกรอบและเกิดประโยชน์ใหม่ขึ้นมา เจ้านายคิดไม่ถึงเลขาฯทำได้ขนาดนี้

กิจกรรมที่ 8 หนึ่งในร้อยความยั่งยืน และมาอีกสัปดาห์หนึ่งเราคิดว่าจะทำเรื่องความยั่งยืนก็คิดว่าจะไปปลูกป่าแต่ทำไม่ได้ไม่รู้จะไปปลูกป่าออนไลน์อย่างไรคิดว่าจะให้ปลูกที่บ้านแล้วส่งมาให้ดูก็ยังไม่สนุก คิดไปคิดมาทำให้ยากไปเลย ให้เลขาฯไปถ่ายรูป ไปทำคลิปหรืออะไรมาได้จะเป็นเรื่องของ Grow Reduce Reuse และ Upcycling (GR2U2) ก็ตั้งว่าถ้าทำอัพไซคลิ้งจะได้ 20คะแนน เพราะยากหน่อย หรือรียูส โกรมาก็10คะแนน เลขาก็ส่งรูปและคลิปมาเยอะมากจนต้องหากรรมการนอกมาตัดสิน

กิจกรรมที่9 เป็นกิจกรรมที่อยากให้ทำคือกิจกรรมบอกรักซีพี ทางเครือฯทำเป็นเทมเพลท แต่เราก็อยากให้เป็นสไตล์เราใช้ออนไลน์ทำ อยากให้คนบอกรักบนหน้าจอและทำอย่างไรให้น่าดู น่ารัก สุดท้ายก็ออกมาในรูปของให้ถือป้ายบอกรักซีพีแล้วจัดกลุ่มกันเข้ามาแล้วบันทึกเทปแล้วเอาไปตัดต่ออีกครั้ง คนมาร่วมกิจกรรมทั้งหมดก็ให้คะแนนทุกคน

ตั้งแต่กิจกรรมที่7ทำให้เรารู้สึกว่าเลขาฯทุ่มเทกับกิจกรรมของชมรมฯก็เลยพยายามหาอะไรที่จะตอบแทนเลขาฯในแต่ละกิจกรรม เพราะตอนแรกก็ว่าจะมีกิจกรรมให้รางวัลตอนจบโดยไปขอรางวัลจากผู้บริหาร พอได้เห็นกิจกรรมที่7ที่ถ่ายคลิปเห็นความทุ่มเทของเลขาฯ ก็เลยเริ่มมีรางวัลเพิ่มเติมให้ตั้งแต่กิจกรรมที่7 -8-9มีรางวัลเสริมให้แต่ละกิจกรรม พอสุดท้ายก็จะเป็นวันที่ประกาศผลของคะแนนรวมทั้งหมดที่สะสมมาและเฉพาะในส่วนที่ตอบ40คำถาม ก็จะคัดเลือกกิจกรรมที่ได้รับการโหวตมาสัมภาษณ์ในวันงาน ก็จะมาเป็นกิจกรรมสุดท้าย กิจกรรมที่10 จบและมาคุยแลกเปลี่ยนกัน

อนาคตเลขาฯกับบทบาทชมรมฯ

100ปี จากนี้ไปมองบทบาทของเลขาฯในเครืออย่างไรและบทบาทของชมรมฯเป็นอย่างไร คุณสุภาวดีกล่าวว่า จริงๆมีความกังวลมาระยะหนึ่งเหมือนกันว่าอาชีพเลขาฯจะเป็นอาชีพยั่งยืนหรือไม่จะเป็นอาชีพที่ถูกดิสรัปไหมในอนาคต เพราะว่าตอนนี้พวกงานรูทีนหลายๆอย่างมีการทดแทนด้วยเทคโนโลยี

“เรามีการหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา2-3ปีแล้วกับการจัดกิจกรรมของเรา เลขาฯของเราต้องปรับตัวแล้วนะ เพราะไม่รู้ว่าเราจะถูกดิสรัปไหมอาชีพนี้ เท่าที่ดูในช่วง2-3ปี เราก็ยังมีความรู้สึกว่าเหมือนเจ้านายยังต้องการผู้ช่วยอยู่นะ อาชีพนี้ก็อาจยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องปรับวิธีการทำงาน เราต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นมากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เลขาต้องทำ พูดกับน้องๆตลอดเวลาว่าทุกคนต้องฝึกที่จะใช้เทคโนโลยี กิจกรรมเลขาฯเราจึงพยายามสอดแทรกที่จะทำอย่างไรให้สามารถใช้ดิจิตัลได้ ทุกคนต้องมี Digital literacy ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น ทำงานกับเจ้านายให้ได้ความสะดวกมากขึ้น ใน2-3ปีนี้เจ้านายอาจจะเคยชิน กับการที่ต้องใช้เราอยู่ แต่ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าในอีก3-5ปีข้างหน้าไม่จำเป็นแล้วก็ได้ เลขาฯอาจไม่จำเป็นแล้วก็ได้ ก็ไม่แน่ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งของอาชีพ”

“ ในช่วงนี้คุณก็ทำได้ด้วยการพัฒนาตัวเอง อย่างที่บอกเรื่องเทคโนโลยี เรื่องภาษา เรารู้สึกว่าเลขาซีพียังรู้ภาษอังกฤษน้อยเกินไป โดยเฉพาะเลขาฯรุ่นกลางๆ เลขาฯรุ่นใหม่ๆอาจมีมากขึ้น เพราะเรามีเจ้านายต่างประเทศมีคนต่างชาติเข้ามามากขึ้น แต่เลขาฯรุ่นกลางๆภาษาอังกฤษอาจไม่เข้มแข็งหรือต้องมีภาษาอื่นๆอย่างภาษาจีน ฉะนั้นเรื่องเทคโนโลยีและภาษาเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ส่วนกิจกรรมของเลขาฯก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำไปได้แค่ไหน30ปีแล้วจะทำไปได้อีกแค่ไหนเพราะจะทำด้วยตัวเราเองไม่ได้ต้องมีน้องๆมาช่วยกัน ต้องมีทีมช่วยสนับสนุน และเรายังไม่รู้ว่าเราจะทำอีกกี่ปีจะอยู่ในตำแหน่งเลขาฯกันอีกไหมเป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่า ณ เวลานี้เราก็ทำให้เต็มที่ เลขาฯควรจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรพัฒนาตัวเองอย่างไร

“ข้อคิดที่จะฝาก สิ่งที่เลขาฯซีพีมีคือเรื่องของจิตใจบริการ ซึ่งตรงจุดนี้น่าจะใช้เค้าให้เป็นประโยชน์ได้ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆระหว่างเจ้านายกับทีมงานเป็นหน่วยซัพพอร์ต ซึ่งส่วนนี้เท่าที่สัมผัสเลขาฯส่วนใหญ่ก็จะมีจิตใจให้บริการที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สิ่งที่เราอยากทำมากๆคือเอาความรู้มาแชร์กัน ถามว่าทำไมเราอยากทำเว็บไซต์เพราะเราอยากนำเทคนิค วิธีการต่างๆมาแชร์กันโดยเฉพาะของพี่ๆมาแชร์กับน้องๆ เคยพยายามทำแต่ยากมาก ยังทำไม่สำเร็จหรืออาจยังไม่มีวิธีที่ดี แต่หลังๆเหมือนกับว่าเป็นเรื่องแต่ละคนอาจมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างที่เจอ ตัวอย่างเจ้านาย ก็ยากที่จะแชร์กัน เราอาจคิดว่าพี่เลขาฯน่าจะมีทีเด็ดเล่าให้น้องๆฟัง พี่ๆอาจจะบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม มันไม่เหมือนกัน เราก็คิดมาตลอดอยากจะทำBest Practice Sharing อยู่ในเว็บไซต์ที่เราทำตลอดเวลา แต่เวลาไปขอพี่ๆ พี่ๆจะบอกว่ามันไม่เหมือนกัน การเรียนรู้มาจากหลายทาง ยังเป็นการบ้านอันใหญ่ที่เรายังทำไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ”คุณสุภาวดีกล่าวฝากทิ้งท้าย