ภาพ 2พี่น้อง คุณสมพร-คุณอำไพ ชูชื่นทายาทลุงแถม ชูชื่น เกษตรกรรายแรกของซีพี
ในยุคบุกเบิกของโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย อ.ศรีราชา จ.ศรีราชา
คุณอำไพเล่าว่าพ่อ(ลุงแถม)มีตำแหน่งเป็นประธานเกษตรกรศรีราชา ที่บ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก เงินที่ได้จากขายมันและสับปะรดก็นำไปใช้หนี้หมุนเวียนแบบนี้ทุกปีไม่สิ้นสุด แต่พ่อมีหัวก้าวหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่ซีพีเข้ามาชักชวนเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อในระบบคอนแทร็คฟาร์ม พ่อจึงสนใจศึกษาข้อมูล และปรึกษากับหน่วยงานราชการ จนมั่นใจจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับซีพีเป็นรายแรกของศรีราชา
“สมัยนั้น ไม่มีใครกล้าตัดสินใจทำตามพ่อสักคน เพราะไม่เคยเลี้ยงไก่มาก่อน และยังต้องกู้ธนาคารสร้างโรงเรือนด้วยวงเงินกว่า 2 แสนกว่าบาทเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพิจารณากันอยู่นานทีเดียว จำได้ว่าเมื่อพี่กับพี่สาวช่วยพ่อเลี้ยงไก่ได้รับเงินครั้งแรก 26,000 บาท จากการขายไก่ 1 หมื่นตัว ใช้เงินกู้ 14,000 บาทแล้วเหลือเงินเก็บตั้ง 8,000 บาท ตื่นเต้นมาก พอทำได้แบบเดิม 2-3 รอบเพื่อนบ้านหลายคนก็เริ่มหันมาสนใจดูงานที่บ้าน และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ของซีพีกัน รวม 200 ครอบครัว เพราะเชื่อว่าครอบครัวจะมีรายได้ที่แน่นอนจริงเหมือนบ้านพี่ และมีบริษัทให้คำแนะนำการเลี้ยงไก่ที่ได้มาตรฐานอย่างใกล้ชิด ส่วนครอบครัวพี่จากที่เลี้ยงไม่ค่อยเป็นหลังจากนั้น 3 ปี ก็ขยายจำนวนไก่เป็น 40,000 ตัว และสามารถใช้หนี้ธนาคารหมดภายใน 5 ปี ปัจจุบันแม้ไม่ได้ทำต่อแล้วแต่ยังคิดอยู่เสมอว่าเงินที่ใช้ในวันนี้ เป็นดอกผลจากเงินเก็บของการเลี้ยงไก่กับซีพีตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ถ้ายังปลูกมันและสัปปะรดอย่างเดียวก็คงไม่ได้เงินขนาดนี้” คุณอำไพ เล่า
โครงการส่งเสริมไก่เนื้อศรีราชา ของซีพีเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2518 เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เลี้ยงไก่เนื้อในลักษณะคอนแทร็กฟาร์ม นับเป็นจุดกำเนิดในการสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกรไทยจนถึงทุกวันนี้ ตามแนวคิดของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ และยังนับเป็นการเริ่มต้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่เกษตรกรอีกด้วย