การรับมือกับเทคโนโลยีที่เข้ามา “ปั่นป่วน” ดิสรัปชั่นในโลกยุคใหม่เป็นสิ่งที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญ เมื่อราวเดือนมิถุนายน 2562 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเวทีการประชุมหอการค้าภาค 5 ภาค
โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ “เจียไต๋” ก่อตั้งในปี 2464 จากร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักในเยาวราช รายได้วันแรกคือ 23 บาท และมีการบุกเบิกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนมีทั้งธุรกิจสื่อสาร ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ ซึ่งล้วนเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจเนอเรชั่น ที่มีการปรับตัวและร่วมกันขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง
“ทุกองค์กรเริ่มจากเล็ก ๆ แล้วค่อยเติบโตขึ้นไป แต่ในยุคนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดได้เร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น ซึ่งมาทั้งวิกฤตและโอกาสเสมอ ทุกวันนี้โอกาสเกิดขึ้นเป็นหย่อมหญ้า มากกว่าอัตราในอดีตอย่างมหาศาล เพราะผู้บริโภคต้องการสิ่งที่ดีกว่าเสมอ เป็นธรรมชาติของมนุษย์”และเทคโนโลยีคอมพิวติ้งหรือศักยภาพในการคิดคำนวณที่พัฒนาขีดความสามารถได้จนถึงขั้นการทำนายอนาคต ก้าวสู่ยุคของ AI ที่ประมวลข้อมูลมหาศาลเพื่อให้คำแนะนำและการตัดสินใจเห็นได้ชัดจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน ล้วนคือ องค์กรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนข้อมูล โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนกระบวนการทำงานแบบเดิม ๆ
“ยุคของ 5G ที่กำลังเกิดขึ้น สงครามระหว่างจีนกับสหรัฐ คือ การแข่งว่าใครจะเป็นผู้นำด้านข้อมูล ด้าน AI ที่จะกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทั้งหมด ซึ่งอเมริกากำลังใช้วิธีให้คู่แข่งช้าลง และกำลังจะเข้าสู่ยุคของสงครามไซเบอร์”
“McKinsey” ระบุว่า การทรานส์ฟอร์มสำคัญ มี 6 เรื่องที่องค์กรต้องเร่งทำ คือ user experience, digital workplace, AI & automation, data & analytics, next-gen technology และ cyber security นั่นคือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน พร้อมรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคของตลาดที่เปลี่ยนไป และมีแพลตฟอร์ม มีเครื่องมือที่จะทำให้การทำงานในองค์กรเชื่อมต่อกันได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มีการนำข้อมูลมาประมวลผล มาวิเคราะห์ โดยเฉพาะการทำงานของฝ่ายการเงิน บุคคล ไอที ต้องไม่เป็นแค่หน่วยงานรอรับคำสั่ง แต่ต้องทำงานควบคู่และรู้จักธุรกิจตัวเองได้อย่างชัดเจน
“หากองค์กรยังทำงานแบบปะผุ ไม่ได้บูรณาการจะทรานส์ฟอร์มไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่พร้อมจะเร่งสปีดให้เติบโต เพราะถ้าวิ่งเร็วเกินชิ้นส่วนก็จะหลุด”
และมีการนำเทคโนโลยีในยุคถัดไป คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มาช่วยธุรกิจให้ดีขึ้น และสุดท้าย คือ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่จะป้องกันตัวเองจากการถูกโจมตีได้ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาโจมตีมีทั้งตัวพนักงานเองที่เป็นช่องโหว่ คู่แข่ง แฮกเกอร์ที่อยากลองฝีมือ นี่จึงเป็นที่มาของสงครามไซเบอร์จีน-สหรัฐ เพราะทุกวันนี้สามารถทำลายระบบเศรษฐกิจได้ผ่านโลกไซเบอร์แล้ว
“เมื่อก่อนคิด process ได้ ก็ใช้ไปยาว ๆ10-20 ปี แต่ยุคนี้นั่นหมายถึงบริษัทเจ๊งแล้ว ต้องปรับ process ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลา”
ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนจะเกิดขึ้น ยังต้องมี “transparency” เป้าหมายขององค์กรต้องมีความชัดเจนไปถึงพนักงานทุกระดับ ความคาดหวังในการงานของพนักงานก็ต้องมีความชัดเจน มีการสื่อสารการเปิดเผยข้อมูลกันอย่างโปร่งใส ข้อขัดแย้งปัญหาต่าง ๆ จะลดลง
“market mechanism” ปรับวิธีขายแบบเดิมให้รับโลกเปลี่ยน ทั้งในแง่ของแพลตฟอร์ม ทักษะบุคลากร ข้อมูลลูกค้าที่จะตอบสนองได้เร็ว และแม่นยำขึ้น
“people & partner” พัฒนาให้เป็นผู้นำตัวจริงได้ คือ ถ้าเป็นระดับหัวหน้า ควรจะต้องทำงานแบบที่เป็นการแก้ปัญหาวันต่อวัน (routine work) 50% และทำงานในการสร้างความเปลี่ยนแปลง 50% แต่ถ้าเป็นระดับที่สูงขึ้นมาเป็น VP ควรจะเป็น routine แค่ 30%และ “empowerment” ในระดับที่จะต้องตัดสินใจหน้างาน มีอำนาจในการตัดสินใจที่มากพอ เพื่อให้งานขับเคลื่อนไปได้ ไม่ใช่รอรับคำสั่งอย่างเดียว และมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเพียงพอ
“แต่ละคนจะสร้างคำตอบของตัวเองว่า ธุรกิจนี้จะไปเป็นอะไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งหมดจะเป็นความจริงได้เมื่อเริ่มวางวิสัยทัศน์ วางเป้าหมาย และลงมือทำ นี่คือความสวยงามของความคิด ความอิสระ ไม่ว่าคนหรือองค์กรก็สามารถคิดและเลือกได้ว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าได้ร่วมกันแชร์แนวคิดระหว่างเจเนอเรชั่นก็จะยิ่งเป็นพลังงานมหาศาล ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดไม่เคยหยุดนิ่ง”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ