ศรีราชา จุดกำเนิด โครงการส่งเสริมเลี้ยงไก่เนื้อแห่งแรกซีพีปี 2518

ภาพ 2พี่น้อง คุณสมพร-คุณอำไพ ชูชื่นทายาทลุงแถม ชูชื่น เกษตรกรรายแรกของซีพี
ในยุคบุกเบิกของโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย อ.ศรีราชา จ.ศรีราชา

โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อแก่เกษตรกรรายย่อยในศรีราชา ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการเกษตรกรรม ที่ทางเครือซีพีได้มีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยให้ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยภายใต้การริเริ่มโดยท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้มีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น ร่วมสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร จึงได้ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อใน อ.ศรีราชา เป็นแห่งแรกเมื่อปี 2518 หรือเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา และถือเป็นจุดเริ่มแรกของการสร้างความสำเร็จของอาชีพเกษตรกร ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้มั่นคงขึ้น และมีความยั่งยืน

โครงการส่งเสริมไก่เนื้อประกันราคานั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2518 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 170 ราย โรงเรือน 210 โรงเรือน จำนวนไก่ 2 ล้านตัว ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้เลี้ยง 58 ราย 101 โรงเรือน จำนวนไก่เนื้อ 1,250,000 ตัว สาเหตุที่ผู้เลี้ยงลดลงเนื่องจากฟาร์มอยู่ในพื้นที่ชุมชน และในพื้นที่ที่มีการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรม ไม่มีผู้สืบทอดในการเลี้ยง หรือขายที่ดินให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ขณะนี้กำลังมองพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่สนับสนุนต่อไป

ลักษณะโรงเรือน แบบเปิด ในช่วงแรกๆ

สำหรับสำหรับเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากจะต้องดูแลเอาใจใส่ เพราะเป็นสัตว์มีชีวิตที่มีอาการเจ็บป่วยได้ ต้องมีที่ดินในการสร้างโรงเรือน มีแรงงานในการเลี้ยงไก่ และอยู่ไม่ไกลโรงงาน เพราะทางบริษัทจะคอยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร เช่น อาหารสัตว์ สัตวบาลในการดูแลสัตว์

คุณสมพร ชูชื่น ทายาทเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคนแรก กล่าวว่า เดิมคุณพ่อคือ นายแถม ชูชื่น ได้เข้าร่วมโครงการเป็นคนแรก หลังได้รับการแนะนำจากประธานธนินท์ ซึ่งในช่วงแรกทางครอบครัวก็ยังไม่กล้าเข้าร่วมลงทุน เนื่องจากเป็นชาวไร่ปลูกมันสำปะหลัง เก็บผลผลิตปีละ 1 ครั้ง และต้องหมุนเวียนค่าใช้จ่ายตลอด แต่การลงทุนเลี้ยงไก่เนื้อในช่วงแรกต้องลงทุนสูง แต่ทางบริษัทพร้อมจะให้การสนับสนุน และช่วยเหลือโดยตลอด ทางครอบครัวจึงตัดสินใจลงทุน

หลังร่วมลงทุนแล้วทางบริษัทเข้ามาให้การช่วยเหลือทุกอย่าง เช่น รูปแบบโรงเรือน สอนวิธีการเลี้ยง และให้เจ้าหน้าที่สัตวบาลมาดูแลอาการเจ็บป่วยของไก่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเลี้ยงสำเร็จในรุ่นแรกใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน สามารถจำหน่าย และมีกำไร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น

ลักษณะโรงเรือน แบบเปิด ในช่วงแรกๆ

ครอบครัวเลี้ยงไก่เนื้อมาโดยตลอด โดยตน และน้องสาวก็ช่วยทางครอบครัวเลี้ยง แต่ต่อมาบิดาได้เสียชีวิตลง ทำให้ตน และน้องสาวต้องช่วยกันเลี้ยงแต่ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และสภาพความเป็นอยู่ทางครอบครัวก็ดีขึ้น แต่ในช่วงปี 2547 ทางบริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการเลี้ยงจากระบบเปิด คือ เป็นพื้นที่โล่งมีหลังคามุงสังกะสีเท่านั้น โดยเปลี่ยนเป็นระบบปิดที่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของไก่ได้ดีขึ้น แต่ระบบปิดต้องลงทุนสูงขึ้น ช่วงนั้นเห็นว่าที่ผ่านมา ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นแล้ว และหากเลี้ยงต่อไปจะไม่มีใครมาช่วยดูแลต่อ เพราะเลี้ยงเพียง 2 คนเท่านั้น จึงตัดสินใจเลิก และหันมาช่วยเหลือ และรับใช้สังคมแทน

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับบริษัทซีพี ตั้งแต่เริ่มแรก

คุณจรัญ เอี่ยมอินทร์ เล่าว่า ครอบครัวเข้ามาร่วมโครงการนี้ประมาณ 30 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกทางพ่อและแม่เริ่มเลี้ยงก่อน จากนั้นพี่ชายได้เข้ามาร่วมโครงการ และขยายเพิ่มขึ้นจากพ่อและแม่ ซึ่งตนเห็นว่ารายได้ดี และสามารถสร้างฐานะได้ จึงเข้ามาร่วมโครงการ โดยเข้ามาร่วมโครงการได้ 23 ปีแล้ว ปัจจุบันมี 2 ฟาร์ม เลี้ยงไก่เนื้อไว้ 20,000 ตัว รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละครั้งแล้วเหลือประมาณ 1 แสนบาท ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งจะมีกำไรเช่นนี้ตลอดไป เนื่องจากทางบริษัทรับประกันราคารับซื้อ ขณะนี้ก็ยังเลี้ยงอยู่ สามารถส่งบุตรเรียนในระดับสูง และมีงานทำแล้ว ส่วนตนก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และขณะนี้ได้ออกมาช่วยเหลือสังคมบ้างแล้วเพื่อให้ชุมชนดีขึ้น

คุณจรัญ กล่าวว่า จะเลี้ยงไก่เนื้อตลอดไปจนไม่สามารถจะเลี้ยงได้ เพราะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ส่วนลูกๆ นั้นขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมาสืบทอดการเลี้ยงต่อไปหรือไม่ก็แล้วแต่อนาคต ส่วนการจะขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้นนั้นขณะนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีความเจริญเกิดขึ้น หากจะเลี้ยงจริงต้องผ่านการประชาพิจารณ์ก่อน หากจะขยายโรงเรือนจริงก็ต้องให้ไกลจากแหล่งชุมชน ซึ่งก็หาที่ยาก และที่ดินก็แพงมาก

 

MGR Online 24 ก.ค. 2558