สิ่งที่เป็นจุดแข็งหนึ่งที่ทำให้เครือซีพีสำเร็จในการทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอาหารคือการให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัยตลอดเวลาเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ
ซึ่งนอกจากธุรกิจเครือฯแล้วซีพียังเห็นความสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิชาการ ความรู้สู่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรนำเทคโนโลยี วิชาการ ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
เช่นเดียวกับวงการเลี้ยงกุ้งของไทยที่เครือซีพีมีส่วนร่วมบุกเบิกพัฒนากว่า30ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของดร.หลินหรือดร.ชิงชัย โลหะวัฒนกุล
ดร.หลินท่านได้รับมอบหมายจากท่านประธานอาวุโสไปดูงาน วิชาการความรู้ด้านการเลี้ยงกุ้งในไต้หวัน ท่านนำทีมไปดูงานและเห็นโอกาสที่จะพัฒนาการเลี้ยงกุ้งให้ประเทศไทย ท่านจึงเชิญผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปดูการเลี้ยงกุ้งของไต้หวันเพื่อให้ภาครัฐมีส่วนร่วมสนับสนุน นำนักวิชาการไต้หวันมาช่วยแนะนำนักวิชาการของซีพี ผลักดันการตั้งศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงกุ้งซีพีที่สมุทรสาครเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างถูกวิชาการ
ดร.หลินยังมีวิสัยทัศน์กว้างไกลได้ริเริ่มให้มี “วารสาร ข่าวกุ้ง ซีพี” เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของประเทศไทย เป็นเอกสารที่มีความถูกต้องน่าเชื่อถือเหมือนวารสารAqua Culture ของโลกที่ใช้อ้างอิงได้
นอกจากนี้ดร.หลินยังต้องการให้ข่าวกุ้งเป็นสื่อกลางระหว่างซีพีกับเกษตรกร เป็นเครื่องมือถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งนอกเหนือจากศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงกุ้งซีพี และยังเป็นสะพานเชื่อมของทีมขายอาหารกุ้งกับเกษตรกร เซลล์ทุกคนจะต้องมี”ข่าวกุ้ง” ติดไปเวลาพบเกษตรกรและเซลล์ซีพีได้มีข้อมูล ความรู้ไปคุยกับเกษตรกร สร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า
“ข่าวกุ้ง”ฉบับปฐมฤกษ์คลอดออกมาในเดือนสิงหาคม 2531 โดยดร.หลินเป็นบรรณาธิการที่ให้แนวทางการนำเสนอเนื้อหา โดยมีคุณตาบส์ทิพย์ แสงแก้วเป็นบรรณาธิการผู้ช่วย “ข่าวกุ้ง”เป็นวารสารรายเดือนที่เคยมียอดพิมพ์สูงสุดถึง30,000เล่มถูกแจกจ่ายให้เกษตรกร ลูกค้าซีพี หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักวิจัยของสถาบันการศึกษา แม้แต่ผู้แทนราษฏร์เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิง “ข่าวกุ้ง”ยังดำเนินการมา 33ปี ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารมาจนถึงทุกวันนี้
Cr:คุณตาบส์ทิพย์ แสงแก้ว