กล่าวได้ว่าผู้บริหาร พนักงานซีพีรุ่นอาวุโสหลายท่านล้วนมีเรื่องราวของชีวิตและเส้นทางการทำงานที่น่าเรียนรู้ก่อนจะก้าวสู่ความสำเร็จเป็นบทเรียนอนุชนคนซีพี
คุณพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ มาจากครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาจากเมืองจีน มีฐานะยากจน จบแค่ป.4 เพราะเสียสละให้น้องๆ6คนได้ร่ำเรียน
คุณพงษ์เล่าให้”วารสารบัวบาน” เมื่อปี2532ว่ามาเร่ิมงานกับซีพีตอนอายุ 15ปี ในปี2501 มาเป็นเด็กออฟฟิศบอยที่ถนนทรงสวัสดิ์ โดย คุณเอี่ยม งามดำรงค์ ชักชวนมาเป็นเด็กช่วยหน้าร้านเงินเดือน 150บาท ทำทุกอย่างทั้งกลางวัน กลางคืน
คุณพงษ์เป็นออฟฟิศบอย 6ปี ก็ได้รับมอบหมายไปดูแลคลังสินค้าปอไทยของเครือฯ 5ปี ได้รับโปรโมทเป็นผู้จัดการโรงงานส่าเหล้าและกากถั่วที่อ้อมน้อย ก่อนจะมาคุมเครื่องMixer ที่ตรอกจันทน์และก้าวสู่ผู้จัดการโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยที่ กม.21 จากนั้น 6 ปีถัดมาถูกส่งไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการด้านปฏิบัติการที่เขตภาคเหนือ ที่ลำพูน มีส่วนบุกเบิกงานด้านอาหารสัตว์ของโรงงานลำพูน โดยรับช่วงต่อจาก คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ที่ได้วางรากฐานไว้และร่วมกับพนักงานเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในภาคเหนือเลี้ยงไก่และสุกร
คุณพงษ์ยังมีส่วนบุกเบิกธุรกิจสัตว์น้ำของซีพี ใน ปี2530 ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนกุล แม้ว่าไม่ได้เรียนมาสายเกษตรหรือประมง แต่เกิดจากการลงมือทำ มีส่วนบุกเบิก ริเริ่มการส่งเสริมวิชาการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับเกษตรกรจน ปี2535 ได้เป็นกรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
คุณพงษ์ยังได้รับผิดชอบโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริในการเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งริเริ่มโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเกษตรกรเป็นระบบการเลี้ยงแบบพัฒนาจนประเทศไทยสามารถส่งออกกุ้งกุลาดำรายใหญ่ของโลก
คุณพงษ์ยังมีส่วนส่งเสริมวงการมวยไทยถึงกับตั้งเป็นค่ายมวย “ซีพียิม” ปั้นนักมวยฝีมือดีมากมาย
คุณพงษ์ เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ “ชีวิตต้องสู้” ที่แจกในหมู่คนรู้จักในซีพีว่าภูมิใจในซีพีบริษัทชั้นนำระดับโลกที่หยิบยื่นโอกาสคนธรรมดาที่เริ่มจากศูนย์และมีมาถึงวันนี้ ผ่านร้อนหนาว สอนเรื่องการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน รวมทั้ง ความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน
ที่มา:หนังสือชีวิตต้องสู้ โดยพงษ์ วิเศษไพฑูรย์