เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 สำนักประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้จัดกิจกรรม CP-CSR Talk ครั้งที่ 7 ขึ้น ในหัวข้อการเสวนาเรื่อง “ส่องทิศทางงาน CSR โลกและไทย และงาน CSR คนซีพีผ่านมุมมอง 2 กูรู ยูนุสไทยแลนด์และสถาบันไทยพัฒน์” โดยได้รับเกียรติจากดร.สุนทร คุณชัยมัง จากยูนุสประเทศไทย และคุณวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมแลกเปลี่ยนพัฒนาการและทิศทางการทำงานด้านCSRของสังคมโลก-สังคมไทย มุมมองการทำงาน CSR ของคนซีพี ในมุมมองยูนูส ไทยแลนด์และมุมมองสถาบันไทยพัฒน์
ดร.สุนทร คุณชัยมัง จากยูนุสประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการทำประโยชน์เพื่อสังคมขององค์กร ทั้ง CSR และ CSV ทั้งในไทยและทั่วโลกจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสังคมเผชิญวิกฤติโควิด-19 ทำให้เริ่มสังคมตั้งคำถามเรื่องความยั่งยืนและความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น โดยมี 2 ประเด็นใหม่ๆ ได้แก่ ภาวะโลกร้อน และโรคระบาด ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมและการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์งานเพื่อสังคมของประเทศไทย ยังคงตามหลังหลายๆประเทศ
คำว่า CSR เป็นคำที่เปลี่ยนผ่านตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และกว่า 13 ปี ที่สรุปได้ว่าธุรกิจจะต้องทำ CSR ซึ่งในปัจจุบันมีคำเรียกแตกแยกออกไปหลากหลาย อาทิ CSV Social Enterprise Social Innovation ฯลฯ เมื่อมี ISO 26000 สถานการณ์ของภาครัฐมีความชัดเจนขึ้นในกระบวนการจัดการทรัพยากร ในการขับเคลื่อนงาน CSR ซึ่งเมื่อเกิดกระบวนการทำงาน จึงทำให้เกิดคำถามต่อมาว่าจะสามารถวัดคุณค่า (Value) อย่างไร สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จึงเป็นที่มาของการต้องตั้งตัวชี้วัด เพื่อให้เห็นเป้าหมายและความสำเร็จ (Outcome Impact) ของการทำงาน CSR โดยจะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับสถานการณ์งานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการบริจาค งานจิตอาสา ฯลฯ ล้วนเป็นกระบวนการหนึ่งของการทำ CSR ในการเข้าไปแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสิ่งที่สังคม ประชาชนและองค์กรธุรกิจต้องการ นั่นคือคุณค่า (Value) หรือกระบวนการที่เข้าไปแก้ปัญหาเพื่อ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งต้องดูที่ “ผลลัพธ์” ที่มาจาก “กระบวนการ” ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นความสำเร็จของงาน CSR ผ่าน 3 กระบวนการ ได้แก่ Social Change Systemic change และ Social transformations
สำหรับงาน CSR สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจมีความเข้าใจผิดที่ว่างานบริจาค ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่แท้จริงแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะงานของจิตอาสาเท่านั้น เช่น ระดมเงินบริจาคสร้างสถาบันศึกษาในปากีสถาน ซึ่งถึงจะเป็นการระดมเงิน แต่สามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของประเทศได้ เป็นต้น
สำหรับคำว่า Social Enterprise เป็นงานกิจการที่มุ่งแก้ไขและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่สามารถเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง หรือเรียกว่า Innovations process โดยมีหลายปัจจัยประกอบรวมกันเป็นนวัตกรรมจากฝีมือผู้คน ไม่ได้มาจากเทคโนโลยี ซึ่งงาน CSR ไม่ได้มาจากกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากกิจกรรมภายในองค์กรเองก็ได้ นอกจากนี้คนทำ CSR จะต้องเป็นคนใจกว้าง ไม่ยึดติดกับกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง แต่มองที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้การทำประชาสัมพันธ์งาน CSR อาจไม่ได้มีความต้องการในรูปแบบข่าวในรูปแบบเดิมๆ แต่ต้องเป็นการเผยแพร่ผลลัพธ์ของงานให้คนอื่นได้รับรู้ จนเกิดความสนใจ ท้ายที่สุดเกิดเป็นความร่วมมือในการผนึกกำลังงานเพื่อสังคม ที่มีความแข็งแรงมากขึ้น และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับการทำ CSR ของเครือซีพี สิ่งที่ยังไม่มีการนำเสนอหรืออธิบายคือ สามารถสร้างผู้ประกอบการได้เท่าไร อาทิ โครงการไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นโครงการที่ทำสำเร็จในช่วง 3 – 5 ปี แต่ถ้าสามารถต่อยอดส่งต่อไปให้ชุมชนดำเนินการต่อ จะกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีต้นกำเนิดมาจากนักเรียนอีกด้วย
คุณวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ทิศทาง CSR ในปัจจุบัน มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งสถาบันฯ จะมีการสรุปทุกปี สำหรับการดำเนินงานด้าน CSR ของเครือซีพี สามารถยกระดับได้ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ความเข้าใจที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานด้าน CSR ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ก็ได้นำมาประมวลผลผ่านธีม (Theme) ที่เรียกว่า “มลฑลแห่งความยั่งยืน” 2. ภายในเครือมีกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีความหลากหลาย ประเด็นที่สำคัญคือการเสริมกำลังเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งจะทำให้กิจกรรมโดยใช้ทรัพยากรต่างๆมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. ให้น้ำหนักเรื่องผลกระทบ (Impact) ของกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องมือ เกณฑ์การวัดผลต่างๆ
1. ความเข้าใจที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานด้าน CSR ขององค์กรธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการปรับตัวของมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติและสอดรับกับบริบทภายนอก สำหรับธุรกิจเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม จึงต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันทั้งกับสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับธุรกิจก็ต้องการสร้างคุณค่า (Value) ให้กับองค์กร โดยมีการจัดการ (Management) ธุรกิจที่ชัดเจน ยิ่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้น ทำให้มีเจ้าของสาธารณะ จึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ซึ่งในปัจจุบันตั้งแต่บอร์ดบริหาร จนถึงพนักงานก็ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงการเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว
คำว่า CSR จะไม่ใช่แค่กิจกรรม โครงการหรือแคมเปญต่างๆเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงกระบวนการจัดการขององค์กรธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้มีประโยชน์สูงสุดด้วย ซึ่งแตกต่างจากคำว่า CSV คือการนำโจทย์ทางสังคมมาพัฒนาให้เป็น โมเดลธุรกิจ (Business Modal) ซึ่งต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย ได้แก่ เรื่องนั้นเป็นปัญหาสังคมหรือไม่ เรื่องนั้นเป็นความเชี่ยวชาญของกิจการหรือไม่ และเรื่องนั้นสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจหรือไม่ โดยโมเดลองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพ (Healthcare) มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เจอกับวิกฤติโควิด-19 อาทิ ดูแลพนักงานอย่างไร ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ความปลอดภัยและโภชนาการของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น และคำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development หรือ SD) ซึ่งจะมีผลกระทบไกลกว่ารอบๆกิจการ เป็นมุมมองความต้องการของโลก ซึ่งมีความสอดรับกับการเติบโตของเครือซีพี ในช่วงเวลา 100 ปี
2. สำหรับงานกิจกรรมเพื่อสังคมของเครือซีพี ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่กระจายไปทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นการทำประโยชน์เพื่อสังคมจะต้องทำเป็นโจทย์ใหญ่ระดับโลกเที่ยบเท่ากับระดับธุรกิจ โดยใช้การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance หรือ CG) ซึ่งอาจจะต้องผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเพิ่มกำลังให้มีประสิทธิภาพและเห็นความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีระดับธุรกิจเท่ากัน แต่มีความถนัดในกระบวนการแตกต่างกัน ก็จะเสริมให้การดำเนินงานมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกอาจเป็นความร่วมมือภายในเครือ แล้วค่อยขยายไปสู่พันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) “การได้ Partner ที่ถูกต้อง แต่คุยผิดเรื่อง ดีกว่าการได้ Partner ที่ผิด แต่คุยถูกเรื่อง” โดยต้องมีการออกแบบการทำงานร่วมกัน อาทิ การจัดสรรคน เงินทุน ทรัพยากรต่างๆ และต้องขับเคลื่อนร่วมกันไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเปิดเผยไปสู่สาธารณะ (Accountability)
3. ให้น้ำหนักเรื่องผลกระทบ (Impact) ของกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องมือ เกณฑ์การวัดผลต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ การวัดตามระเบียบข้อบังคับ (Act to avoid harm) สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Benefit Stakeholder) ซึ่งต้องมีความเข้าใจในความต้องการมีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเชิงบวกมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา (Contribute to solutions) เพื่อสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาการขาดแคลนโภชนาการ ปัญหาระบบการศึกษา เป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหาสังคมในระดับเวทีโลก
คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาศครบรอบ 100 ปีเครือซีพี ทุกกลุ่มธุรกิจได้รับนโยบายว่า ไม่ว่าจะไปทำธุรกิจที่ไหน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะต้องนึกถึงประโยชน์ของสังคม เพื่อประชาชน และขององค์กร โดยใช้ศักยภาพหรือจุดแข็งที่แต่ละกลุ่มธุรกิจเข้าไปแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งเกิดความท้าทายเนื่องจากงานด้านสังคม ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามโลก ดังนั้นงาน CSR ก็ต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและมีความยั่งยืน