เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 สำนักประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้จัดกิจกรรม CP-CSR Talk ครั้งที่ 4 ขึ้น ในหัวข้อการเสวนาเรื่อง “เปิดคัมภีร์ความสำเร็จ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า พลิกชีวิตเกษตรกรจากศูนย์สู่แสน จุดประกายคนซีพีนำโมเดลช่วยชุมชน” โดยได้รับเกียรติจาก คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และตัวแทนเกษตรกรนำโดย คุณภักดี ไทยสยาม ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย พร้อมเปิดแนวคิดความสำเร็จกว่า 40 ปี ของเกษตรกรหนองหว้า ในครั้งนี้
โดยมีผู้บริหาร เพื่อนพนักงานจากหน่วยงาน CSR PR ตัวแทนโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน พนักงานจิตอาสา เถ้าแก่น้อยจากกลุ่มธุรกิจต่างๆในประเทศไทยรวมทั้งซีพีในต่างประเทศอาทิเวียดนาม มาเลเซีย ลาว อินเดีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯร่วมพบปะพูดคุยกว่า 120 คน
คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจ แนวความคิด ตลอดจนนโยบายของ ท่านประธานอาวุโส คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นว่า การแก้ปัญหาของเกษตรกรในประเทศไทยมีความสำคัญจึงทรงให้ที่ดินในหลายจังหวัด ให้รัฐนำไปปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ปี 2518 จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเกิดนโยบายของซีพี อีกทั้งภายหลังพบว่าเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน กว่า 1.4 ล้านครอบครัว ซึ่งในช่วงนั้นหน่วยงานภาครัฐในท้องที่เอง ก็มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร จึงเป็นโอกาสที่ซีพีเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ
นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการตามปรัชญาของซีพี ใน 3 ประโยชน์ ของการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีแนวคิดว่า เกษตรกรเปรียบเสมือนคู่ชีวิตของซีพี จึงได้ริเริ่มโครงการ 4 ประสาน โดยร่วมกับภาครัฐ และธนาคารกรุงเทพ พิจารณาคัดเลือกเกษตรกร 2 ส่วน ได้แก่ เกษตรกรในพื้นที่เดิม และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จำนวน 50 ครอบครัว เข้ามาร่วมในพื้นที่หนองหว้า โดยให้พื้นที่ปลูกบ้าน พร้อมให้ความรู้การเลี้ยงลูกสุกรขุน โดยซีพีจะรับซื้อต่อไปให้เกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งนำไปเลี้ยงเป็นสุกรเนื้อต่อไป ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี จนสามารถคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตลูกสุกร จนถึงด้านการตลาด ซึ่งใช้เวลา 21 ปี แม้ภายหลังจะมีบางครอบครัวขายคืนเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นบ้าง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรต่อเนื่องและนำรายได้ไปประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ
ทางด้าน คุณภักดี ไทยสยาม ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เล่าว่า แต่เดิมที่หนองหว้าลำบากมาก ถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อฝนตกก็เกิดน้ำท่วมทางขาดทุกปี จึงได้รับมอบหมายจากซีพีให้ไปเป็นสัตวบาลช่วยเหลือเกษตรกรหนองหว้าอย่างเต็มที่ เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ จึงต้องเป็นที่พึ่งพิงตั้งแต่ผลผลิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของครอบครัว และมีแนวคิดมุ่งเป้าให้เกษตรกรสู่ความสำเร็จในด้านอาชีพ มีรายได้ อยู่ได้ด้วยตนเอง ส่งผลทำให้ซีพีอยู่ได้เช่นกัน โดยคุณภักดีชี้ว่าความสำเร็จของเกษตรกรหนองหว้าส่วนหนึ่งคือการมีแนวคิดการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างเกษตรกรกับทีมงานของซีพี ทั้งสองฝ่ายมองประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายเดียว นอกจากนี้เกษตรกรสมาชิกของหมู่บ้านฯต้องมีความขยัน รับผิดชอบในการเลี้ยง ดำเนินการตามวิชาการ ความรู้ที่บริษัทถ่ายทอดให้ดังนั้นการทำงานจะต้องมีความเสียสละ ทุ่มเท และทำงานหนักไม่มีวันหยุด
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ชาวเกษตรกรหนองหว้าประสบความสำเร็จนั้น อาจจะมาจากความขยัน ตั้งใจทำมาหากินเลี้ยงตนเอง และเนื่องจากในพื้นที่หนองหว้าอยู่กัน 50 ครอบครัว การมีความซื่อสัตย์กับตนเองและส่วนรวมจึงสำคัญ ถ้าส่วนรวมอยู่ได้ ส่วนตัวก็จะอยู่ดี จึงได้สร้างกติกา ข้อตกลงกันเองภายในชุมชน ต้องเห็นแก่ส่วนรวม เสียสละ และช่วยเหลือกัน ทั้งในด้านกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ เมื่อแนวคิดนี้สำเร็จ จึงทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ลูกๆของเกษตรกรได้เรียนหนังสือ โดยมีงบประมาณของโครงการให้ครอบครัวยืมนำไปใช้จ่ายค่าการศึกษาถึงปริญญาตรี ผลสำเร็จคือ เด็กๆได้เรียนหนังสือและส่วนหนึ่งก็นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน จนกระทั่งปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่หนงหว้าได้ปรับตัวตามยุคสมัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเลี้ยงสุกรเพียงอย่างเดียว โดยเพิ่มอาชีพเสริม อาทิ ปลูกสวนยาง เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกพืชผักอื่นๆ ซึ่งประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้
จากความสำเร็จด้านเศรษฐกิจด้านอาชีพแล้ว เกษตรกรหนองหว้ายังส่งเสริมให้ลูกๆของเกษตรกรได้เรียนหนังสือ โดยมีงบประมาณของโครงการให้ครอบครัวยืมนำไปใช้จ่ายค่าการศึกษาถึงปริญญาตรี ผลสำเร็จคือ เด็กๆได้เรียนหนังสือและส่วนหนึ่งก็นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน จนกระทั่งปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่หนงหว้าได้ปรับตัวตามยุคสมัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเลี้ยงสุกรเพียงอย่างเดียว โดยเพิ่มอาชีพเสริม อาทิ การเลี้ยงไก่ไข่ออร์แกนิค การปลูกผักอินทรีย์ ยางพารา เห็ดฟาง เลี้ยงจระเข้ ไก่พื้นเมือง น้ำหมักชีวภาพซึ่งประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเติมจากการเลี้ยงสุกร มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมโครงการด้านสังคมที่ส่งเสริมเด็กในหมู่บ้าน อาทิโครงการเด็กอ่านข่าว โครงการมัคคุเทศก์น้อย โครงการหนองหว้าอคาเดมี่ กองทุนเด็ก ส่งเสริมการออมให้เด็กโครงการผู้สูงอายุ โครงการ ขยะแลกไข่ โครงการปลูกป่า เป็นต้น และพยายามให้เกิดการรับไม้ต่อให้มีคนรุ่นใหม่สานต่อเพื่อให้หมู่บ้านฯสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
จากความสำเร็จของโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าและการปรับตัวกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทำอย่างไรที่จะทำให้โครงการฯ ขยายผล หรือมีการนำโมเดลหนองหว้าไปทำให้เกิดในประเทศอื่นๆ ที่ซีพีไปลงทุน หรือพนักงานนำไปทำเป็นโครงการด้านสังคม คุณอภัยชนม์และคุณภักดีต่างเห็นพ้องกันว่าหน่วยงานหรือเพื่อนพนักงานก็สามารถนำประสบการณ์ บทเรียนของการพัฒนาหนองหว้าไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของกลุ่มเกษตรกร โดยเครือฯ และเกษตรกรในโครงการฯ ยินดีให้คำปรึกษาหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน เพื่อให้เกิดหมู่บ้านเกษตรกรรมในการแก้ปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาโมเดลของหนองหว้าถูกนำไปขยายผลเกิดเป็นโครงการเลี้ยงไก่ไข่1ล้านตัวที่ผิงกู่ ประเทศจีน จึงเชิญชวนหน่วยงาน พนักงานซีพีนำบทเรียนหนองหว้าเป็นแรงบันดาลใจในการส่งเสริม พัฒนาเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน
######