เจียไต๋-ซีพีในความทรงจำของ 4ลูกชาย-ลูกสาวท่านชนม์เจริญ:6ยุคการพัฒนา/การเกื้อกูลเจียไต๋-ซีพี/คุณพ่อกับต้นแบบของลูกหลาน

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 คณะทำงานด้าน Content 100 ปีซีพีมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.ประทีป เจียรวนนท์ , คุณพงษ์เทพ เจียรวนนท์  , คุณภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์ และคุณมนัสเจียรวนนท์ 4ผู้บริหารที่เป็นบุตรชายและบุตรตรีของท่านชนม์เจริญ ผู้น้องของท่านเจี่ยเอ็กชอ 2ผู้ร่วมก่อตั้งร้านเจียไต๋ จึงถึงความทรงจำและเรื่องราวในอดีตของเจียไต๋และความประทับใจที่มีต่อท่านชนม์เจริญ โดยทั้ง4ท่านได้ร่วมกันบอกเล่าว่า

#6ยุคของเจียไต๋
ทั้ง 4พี่น้องเล่าว่าเจียไต๋ผ่านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพอจะแบ่งเป็น 6ยุค คือยุคก่อตั้งตามมาด้วยยุคผู้บริหารอย่าง คุณวัลลภ เจียรวนนท์ ที่จบปริญญามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเจียไต๋ เริ่มมีระบบบัญชี ระบบต่างๆ จากนั้นก็เข้าสู่ยุคเบ่งบานมีดร.ประทีป เจียรวนนท์ที่จบการศึกษาจากประเทศออสเตรเลียและประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยเบ่งเรื่องการค้ามากขึ้น ไปถึงต่างประเทศ จากนั้นมาเป็นยุค คุณพงษ์เทพ เจียรวนนท์ เป็นยุคที่มีการ tranform เปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของเจียไต๋แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องร่วมกัน ทำงานกันทุกวันตลอด24ชั่วโมง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาตลอด 9ปี จากช่วงการแก้วิกฤตก็มาถึงยุคคุณมนูเจียรวนนท์ เป็นยุคที่เจียไต๋เติบใหญ่ และส่งไม้ต่อให้กับคุณมนัส เจียรวนนท์ จนถึงวันนี้

“สมัยคุณพ่อทำเรื่องเมล็ดพันธุ์อย่างเดียว หลังจากคุณวัลลภกลับมาช่วยคุณพ่อ คุณวัลลภก็มีการติดต่อ พวกอุปกรณ์การเกษตร ยาปราบศัตรูพืช แล้วก็อย่างที่บอก คุณพ่อไม่เคยเกษียณ ตั้งแต่คุณวัลลภมาดูแลกิจการ คุณพ่อก็ยังช่วยงาน แต่คุณวัลลภก็ช่วยหาสินค้าใหม่ๆ ลูกค้าทุกคนที่มาจะขอมาพูดคุยกับคุณพ่อ ผมมาทำงานแล้ว คุณพ่อก็ยังมาทำงานทุกวัน นั่งห้องรับแขกติดกันกับที่พวกผมนั่ง ลูกค้าเก่าแก่หรือคนเก่าแก่ก็ยังมาขอพบคุณพ่อช่วงที่ผมเข้ามาปี2518 คุณวัลลภเป็นคนดูแล ผมเข้ามาช่วยคุณวัลลภ คุณพ่อพูดกับผมอยู่ตลอดเวลา คุณภาพ ต้องดีที่สุดแล้วต้องไม่เอาเปรียบเกษตรกร มีอะไรต้องช่วยลูกค้าให้หมดเท่าที่จะช่วยได้ นี่คือ3ข้อหลัก

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเจียไต๋ยุคไหนก็ได้รับพื้นฐานที่ดีที่คุณพ่อ คือท่านชนม์เจริญ ผู้เป็นบิดาปูพื้นฐานของลูกค้าเจียไต๋ ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้อย่างดี ทำให้ลูกค้าเหล่านี้ที่คุณพ่อได้สร้างไว้ยังคงให้การสนับสนุนเจียไต๋มาอย่างต่อเนื่อง พอมาถึงซีพีที่เริ่มขายอาหารสัตว์ก็มีลูกค้าเก่าของเจียไต๋ให้การสนับสนุนเช่นเดียวกัน”ดร.ประทีปกล่าว

#การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างซีพีกับเจียไต๋
ดร.ประทีปเล่าว่าหลังจากมีร้านซีพี ซีพีก็อยู่แถวร้านเจียไต๋ในช่วงแรก จากตรงนั้นก็ไปสร้างที่ตรอกจันทน์เพราะพื้นที่ไม่พอและทำเลที่ดีที่สุดตอนนั้นที่ตรอกจันทน์ คุณพ่อก็มีบอกว่าจะมีการสร้างโรงงาน ระวังนะตาปู มีงานก่อสร้าง อย่าไปวิ่งเล่น คือจำตรงนี้ได้แล้วพอเครื่องผสมอาหารสั่งทำแล้วจะเอาไปไว้ ผมจำได้ก่อนโรงงานเสร็จ ผมไปวิ่งเล่นแถวเครื่องผสมอาหารสัตว์ ยังได้พบท่านประธานอาวุโส ท่านเป็นคนร่าเริง ชอบถ่ายรูปโดยคุณภัทนีย์เล่าเสริมว่าตอนนั้นมีห้องแล็ปสำหรับตรวจวัดเรื่องความชื้น สมัยนั้นเราซื้อปลาป่น อะไรต่างๆ เราก็ต้องใช้เคมี มีการซื้อขายโปรตีนแล้ว สมัยนั้นท่านประธานอาวุโสดูแลอยู่ และจำได้ว่ามีห้องๆหนึ่งไว้ทำเป็นคลินิก ท่านประธานอาวุโสเป็นคนลงมือทำเอง มีลานปูนสำหรับตากปลาแห้ง กระถิน สมัยนั้นก็ถือว่าเป็นโรงงานที่ทันสมัยก่อนมี กม.21

ดร.ประทีปกล่าวว่า เท่าที่ผมเห็นตอนเด็กเราไม่สามารถแยกแยะว่านี่คือเจียไต๋ นี่คือเจริญโภคภัณฑ์ เพราะว่าถึงแม้คุณลุงส่งเมล็ดพันธุ์ผักเข้ามาขาย คุณพ่อเป็นคนดูแลที่เมืองไทย แต่ในเวลาเดียวกันท่านประธานทุกคน ตั้งแต่ ท่านประธานจรัญ ประธานมนตรี ประธานสุเมธ ก็มีส่วนมาเกี่ยวข้องกับเจียไต๋ ก่อนที่เจริญโภคภัณฑ์จะเกิด เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร เค้าถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เจียไต๋มีชื่อเสียงทางด้านเมล็ดผัก แต่ก็ไม่ใช่เป็นธุรกิจใหญ่ เจริญโภคภัณฑ์ก็เพิ่งเริ่มขยายธุรกิจ เจียไต๋ก็ช่วย สนับสนุนด้านการเงิน หรือคน เจียไต๋ก็ไปช่วยทางเจริญโภคภัณฑ์ทางเจริญโภคภัณฑ์ก็มาช่วยทางเจียไต๋ พี่น้องทุกคนรวมท่านประธานจรัญ ประธานมนตรีก็มาช่วยเจียไต๋ เพราะฉะนั้นจริงแล้วมันเกื้อหนุนกันตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว และที่ผมพูดก็คือว่าหลังจากที่ผมกลับมาจากอเมริกาก็ยังประชุมเกือบทุกเดือนกับทั้ง 6ท่าน บวกกับพวกผมอีกคนสองคน ประชุมก็มีทั้งเจียไต๋ ซีพี มีกันบ่อยมาก จนเกิดความสนิทสนมกัน

ดร.ประทีป เจียรวนนท์

“ตอนที่ผมกลับมาช่วยงานใหม่ๆ คุณพงษ์เทพกลับมาก่อนผมสองปี ช่วงนั้นซีพี เจียไต๋ก็ยังเล็กก็พอมีคนพอรู้จัก แต่ช่วงนั้นก็มีกรรมการอยู่6คน มีท่านประธานจรัญ คุณมนตรีและก็พวกผม ทั้งผมและคุณพงษ์เทพได้เข้าไปประชุมเกือบทุกเดือนที่ตรอกจันทน์ ก็เกิดความคิดความอ่าน ได้รู้ความคิด ท่านประธานอาวุโส ท่านประธานจรัญ เป็นอย่างดี ในช่วงนั้น ถืออาวุโสเป็นหลัก ผมมีโอกาสพบคุณลุง(ท่านเจี่ย เอ็กชอ) บ่อยเหมือนกันตอนคุณลุงกลับมาจากต่างประเทศและมาอยู่บ้านท่านประธานสุเมธ ท่านประธานสุเมธบ้านอยู่หลังเจียไต๋ แล้วทุกเที่ยงผมได้ไปคุยกับท่าน ท่านเข้ามาที่ร้านเจียไต๋ ท่านพูดแต้จิ๋วท่านพยายามสอนวิธีการผสมเมล็ดพันธุ์ อย่างหัวใช้เท้า ถ้าจะให้ออกดอก เก็บเมล็ดต้องย้ายกล้าถึงจะมีดอก มีเมล็ด ถ้าปลูกจากเมล็ดจะไม่มี เป็นเคล็ดลับ ท่านเก่งมากในด้านเกษตร แล้วคุณลุงชอบคุยกับผมมากที่สุด เพราะว่าทางด้านวิชาการ ท่านรู้ว่าผมจบทางด้านนี้มา ก็คุยกันตลอด”

#เบื้องหลังกำหนดวันหมดอายุเมล็ดพันธุ์
คุณภัทนีย์เล่าว่า ตั้งแต่สมัย4-5ขวบ ก็เห็นแบบนั้นแล้ว ขณะที่คุณมนัสระลึกถึงเหตุการณ์นี้ว่ามีส่วนฉีกซองที่เก็บมาที่หมดอายุ ส่วนดร.ประทีปเล่าว่าคำตอบที่แท้จริงคือพฤติกรรมมากกว่า เป็นความคิดความอ่านของทั้งคุณลุง คุณพ่อ ที่เชื่อมั่นว่าถึงแม้จะเป็นพ่อค้าแต่เป็นพ่อค้าที่มีความยุติธรรมที่สุดอยู่ในใจก็คือว่าไม่เอาเปรียบคู่ค้าก็คือลูกค้าทั่วไป ของที่ได้ไปทั้งหมดจะต้องเป็นของที่มีคุณภาพแล้วเรารับผิดชอบสินค้าทุกตัวในยุคนั้น เพราะฉะนั้นวิธีการรับผิดชอบก็ถึงจะต้องมีตัววันที่ระบุ ถ้าหลังจากนั้นอยู่ภายในวันที่นี้ ถ้าเมล็ดไม่งอกขึ้น มาเลย เราสามารถรับผิดชอบเต็มที่ให้ นี่คือจุดที่ริเริ่มมา เพระความคิดว่าไม่เอาเปรียบ คุณภาพจะต้องดีที่สุดถ้าของไปจากที่เจียไต๋เรา

#คุณพ่อกับการศึกษาของลูก และความเป็นคนมีเมตตา
โดยดร.ประทีปเล่าถึงความทรงจำที่มีต่อคุณพ่อหรือท่านชนม์เจริญว่า เท่าที่จำความได้สมัยโน้นก็อยู่ที่บ้านตรอกจันทน์ หลังจากที่คุณพ่อมาจากประเทศจีนและก่อตั้งร้านเจียไต๋ปี2464 ช่วงที่อยู่บ้านตรอกจันทน์ตอนนั้นเด็กมาก

“ผมเกิดปี 2491 เจริญโภคภัณฑ์ก่อตั้ง ปี2496 ช่วงนั้นบ้านตรอกจันทน์ก็เป็นสวนใหญ่คุณพ่อชอบเกษตร ทุกเช้าคุณพ่อต้องไปร้านเจียไต๋ตอนเย็นก็กลับมา ตอนเช้าทุกคนก็คงได้ยินเพราะว่าอยู่ห้องเดียวกันหมด คุณพ่อก็นอนอยู่ห้องเดียวกัน คุณแม่ ลูก6คนอยู่ในที่เดียวกันหมด ตั้งแต่เช้าก็ได้ยินเสียงคุณพ่อเดินๆ รอบบริเวณบ้านตรอกจันทน์ประมาณ 6ไร่ กว่า ตอนเย็นตอนกลางคืนก่อนหลับ คุณพ่อก็เล่าเรื่องให้ฟัง เล่าเรื่องนิทานของเมืองจีนและเล่าเรื่องของที่ร้านเจียไต๋ เรื่องขายเมล็ดผัก พูดถึงธุรกิจเมล็ดผักและผมยังจำได้ทุกเย็นที่คุณพ่อกลับมาก็มีเงินพกมาร้อยหนึ่งก็ให้พ่อครัวไปซื้อกับข้าวกินกันทั้งหมดตรงนั้นหลายครอบครัวไม่เฉพาะครอบครัวคุณพ่อยังมีคนทำงานที่เจียไต๋หลายคน หลายครอบครัวอยู่ในบริเวณตรอกจันทน์ด้วย “

“เจียไต๋ก็เป็นร้านค้าธรรมดาขายเมล็ดพันธุ์ผักเป็นหลัก อยู่แถวทรงวาด ก็เห็นคุณพ่อทำงานลำบากมาก คุณพ่อก็เล่าให้ฟัง บางทีเครียด เห็นปวดหัวบ้างอะไรบ้าง แต่ทุกครั้งที่มาบ้านก็ไม่ได้พกความเครียดกลับมาให้ลูกๆเห็น ตอนป.3ผมก็ไปเรียนเมืองนอก ในทัศนะของคุณพ่ออยากให้ลูกๆทุกคนมีความรู้ไม่ใช่เฉพาะอยู่ในเมืองไทย อยู่เมืองนอกด้วย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นปี2499 ก็ให้คุณวัลลภกับคุณเชิดชัยไปเรียนที่ออสเตรเลียก่อน แล้วปี 2502 ผมก็ตามไปเรียนออสเตรเลียจนจบมัธยม แล้วก็ไปเรียนที่อเมริกา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส แคมปัส ปี2510 จนปริญญาตรี 2514 ปริญญาโท 2515 ปริญญาเอก2518 เรียนด้านการเกษตร เกี่ยวกับสรีรวิทยาของพืช

ช่วงนั้นเลือกเรียนทางนี้เพราะเจียไต๋ขายเมล็ดพันธุ์อยู่และเกี่ยวข้องกับพืช อันนี้เป็นการมองการณ์ไกลของคุณพ่อซึ่งอยากให้ลูกไปรับความรู้จากเมืองนอก หลังจากนั้นคุณพงษ์เทพก็ตามไป ออสเตรเลียประมาณ8ปี แล้วตามไปเรียนที่อเมริกา แต่ตอนผมไปอเมริกา คุณวัลลภ คุณเชิดชัยกลับมาจากออสเตรเลียแล้วท่านให้ความสำคัญกับการศึกษามากลูกๆไปเรียนที่อเมริกาถึง 6คน ผม คุณพงษ์เทพ คุณภัทนีย์ คุณมนู คุณมนัส คุณวัชรชัย ค่าใช้จ่ายก็มหาศาลแต่ท่านก็ส่งเงินไปให้ลูกๆ แต่ลูกๆก็หางานทำหารายได้พิเศษกัน

คุณพงษ์เทพ เจียรวนนท์

นอกจากการให้ความสำคัญด้านการศึกษาของลูกๆแล้ว ในแง่ของความเมตตาของท่านชนม์เจริญยังเป็นที่รับรู้ของลูกๆทุกคน ดร.ประทีปเล่าว่า ช่วงนั้นที่ตรอกจันทน์ เป็นที่อยู่อาศัยก่อนประธานจรัญมาขอสร้างโรงงานอาหารสัตว์ที่ตรอกจันทน์ คนที่ทำงานเจียไต๋กินข้าวร่วมกัน แล้วที่เจียไต๋ วัดเกาะมีพ่อครัวทำอาหารทุกเย็น ผมยังจำได้ชั้นล่างค้าขาย ชั้น2เป็นที่อยู่อาศัยของคุณแม่คุณวัลลภ ชั้น3เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวท่านประธานอาวุโส ทั้งคุณจรัญ คุณมนตรีอยู่ ชั้น3 ทั้ง 2 ครอบครัว อยู่ที่ร้านเจียไต๋ การกินก็กินร่วมกัน และที่บอกว่าท่านคุณพ่อเป็นคนเมตตาเห็นตั้งแต่ช่วงนั้น จนผมกลับมาทำงานก็ยังเจอและคนละแวกนั้นที่ไม่มีเงินก็มาขอเงินทุกเช้า รู้ว่าเถ้าแก่มาก็มาขอเงิน มีขายปลาเค็ม หอบมา เห็นว่าหนักก็เหมาหมดจะมีแบบนี้เยอะและมีคนมาขอความช่วยเหลือเยอะและช่วงที่ผมทำงานเจียไต๋ คุณวัลลภเป็นหัวหน้า ก็มีคนทั่วไปมาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อตลอดเหมือนกัน

“และอีกอย่างที่ตรอกจันทน์ หลังจากสร้างโรงงานของซีพีหลังแรกแล้ว ที่ตรอกจันทน์เรามีน้ำบาดาล สมัยก่อนน้ำประปาไม่มีคุณพ่อก็ติดก๊อกน้ำ หน้าบ้านและก็หลังบ้าน 2 จุด คนก็เรียงแถวกันมา เอาปี๊ปมาเติมน้ำ ทุกวัน ตั้งแต่สมัยนั้น แบ่งปันตลอด”

ขณะที่คุณภัทนีย์บอกว่าอาจจะเป็นดีเอ็นเอก็ได้เรื่องความช่วยเหลือคนอื่น เพราะคุณพ่อหรือแม่ใหญ่ก็เล่าให้ฟังถึงคุณย่าที่เมืองจีน เวลาที่มีคนจนมาขอเงินท่าน ท่านไม่มีหรอกแต่ท่านไปขอยืมคนอื่น คิดว่าทั้งคุณลุง คุณพ่อได้รับ ซึมซับมาในเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและรับผิดชอบสังคม ถามว่าคุณพ่อดุไหม ดุแต่ที่ท่านดุท่านมีเหตุผลว่าท่านถือว่าทุกคนก็เป็นคน ถ้าไปเรียกพี่เลี้ยงเป็นคนใช้ก็ไม่ได้ ท่านมองว่าทุกคนเกิดมาก็อยากเป็นอย่างเรา ท่านก็จะสอนเรื่องสัจธรรม ถ้าดื้อก็ตี ท่านจะมีเหตุผล เวลาที่ท่านไม่ดุเป็นคุณพ่อที่ใจดีมาก เรื่องอาหารการกินชั้นหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าผิดๆจริงก็ไม่ปล่อย คุณมนัสเสริมว่าคุณพ่อเป็นคนมีเหตุมีผล ใจดี ท่านไม่สอนทำธุรกิจแต่เป็นตัวอย่างมากกว่า ในเรื่องของการดำเนินชีวิต

และบุคลิกอีกข้อที่ผู้บริหารทั้ง 4 ต่างพูดท่านชนม์เจริญเป็นเสียงเดียวกันคือความเป็นซูปเปอร์เซลล์แมนของ ท่านให้ความสำคัญกับการดูแลคู่ค้า ลูกค้า ท่านเดินทางไปทุกจังหวัด 72 จังหวัด ไปเยี่ยมลูกค้า สมัยนั้น ยังไม่มีโรงแรม ถนนก็ยังไม่ลาดยาง พูดง่ายๆไปทางเรือ ไปทางลูกรัง ไปอาศัยบ้านลูกค้าอยู่ นอนวัดด้วย ท่านออกไปทำตลาดคนเดียว

คุณมนัสเจียรวนนท์

#ความประทับใจในวาระ 100ปี
ถามถึงความรู้สึกในโอกาสที่เจียไต๋ ซีพี เข้าสู่ช่วง 100 ปี ทั้ง 4ท่านบอกถึงความรู้สึกร่วมกัน โดยดร.ประทีป กล่าว่า ผมเข้ามามีส่วนในเจียไต๋ ตอนผมกลับจากออสเตรเลียแล้ว ก็ประมาณครึ่งทาง เห็นตั้งแต่ร้านค้าเล็กๆจนกลายเป็นเครือธุรกิจที่ใหญ่มาก ทั้งนี้ก็ต้องยกย่องคุณลุง(ท่านเจี่ย เอ็กชอ)กับคุณพ่อ(ท่านชนม์เจริญ)ที่วางรากฐานไว้ ข้อที่ 2 มาจากความสามัคคีของพี่น้อง โดยเฉพาะระบบอาวุโส ช่วงนั้นผมยังเล็กมากตอนเข้ามาใหม่ๆ แต่ผมเห็น ท่านประธาน 4 ท่าน โดยเฉพาะท่านประธานอาวุโสตอนนั้นท่านเพิ่งเข้ามา ก็ยังนับถือพี่ๆที่เป็นอาวุโส จนได้รับมอบอำนาจเต็มที่ แล้วใช้อำนาจนี้ขยายจนเห็นทุกวันนี้

“แต่ทั้งหมดทั้งนี้ก็เพราะความมีการนับถือในอาวุโส และพี่น้องทุกคนก็นับถือคุณอาคุณลุง และการที่ว่าพี่น้องสามัคคีกัน แล้วก็สามารถแยกแยะตำแหน่งได้ ตำแหน่งของใครก็ให้รับผิดชอบเต็ม โดยให้การสนับสนุนแต่ไม่ก้าวก่าย แล้วก็มอบอำนาจให้ท่านประธานอาวุโส แล้วมาถึงตอนนี้ท่านประธานอาวุโส ก็มีประธานคนใหม่ ซีอีโอคนใหม่พวกผมก็สนับสนุนเต็มที่คือ เรามีตรงนี้อยู่ ถึงมีความเจริญรุ่งเรืองมาถึงวันนี้”

ส่วนคุณพงษ์เทพกล่าวว่า เวลานี้กลุ่มของเครือฯที่จะสามารถพัฒนาและไปตามแนวทางที่จะทำให้บริษัทหรือกลุ่มบริษัทเราโตเร็วกว่านี้ ก้าวกระโดด ผมว่ายุคหน้าจะเป็นยุคที่ค่อนข้างเป็นยุคจรวด

“ผมถือว่าผมโชคดี ได้เห็นภาพส่วนหนึ่งของในอดีต อีกไม่นานพื้นฐานที่ปูไว้ที่ค่อนข้างดี อีกยุคหนึ่งมันจะTake offและผมค่อนข้างมั่นใจว่า เป้าหมายที่อยากจะเรียกว่า New Mangaement มันเป็นเป้าหมายใหญ่โตมโหราฬ ถ้าสำเร็จ ทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือใกล้เคียง มันก็จะวางบรรทัดฐานสำหรับเจเนเรชั่นต่อไป หลักของเราคือหลักเกษตร วันนี้เรากำลังเดินเข้าไปในเอเรียที่ไม่ใช่เกษตรแล้ว เป็นการ Diversify..”

ด้านคุณภัทนีย์ กล่าวว่า จริงๆแล้วโตมาจากอาหารสัตว์ ตั้งแต่เด็ก วิ่งเล่นแถวโรงงานอาหารสัตว์ซึ่งเป็นโรงแรกของเครือ แต่เริ่มมาทำงานเครือที่โรงงานอาหารสัตว์แห่งที่ 2 ของเครือที่ กม.21 ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เราก็ได้เห็นความเจริญก้าวหน้า

คุณภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์

“สำหรับตัวเอง มองย้อนกลับไปก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจอาหารสัตว์ยั่งยืน ซึ่งซีพีให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ ซึ่งเรียนรู้จากผู้ก่อตั้งตั้งแต่ท่านประธานจรัญ ท่านประธานอาวุโสที่ท่านให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและคุณภาพ ท่านจะเน้นเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นการที่เราเน้นเรื่องเทคโนโลยีและคุณภาพจะทำอย่างไรที่เราจะรักษาการเป็นที่1ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การที่เราจะเป็นที่1ไม่เพียงด้านการผลิตอาหารสัตว์แต่เราจะต้องเป็นที่1ด้านเทคโนโลยี เรื่องของโนฮาว เพราะว่าเราทำอาหารสัตว์วันนี้ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค เราไม่ได้แค่ทำอาหารสัตว์แต่เราทำอาหารเพื่อมนุษย์ทุกคน เป็นอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ ค่อนข้างภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือฯที่โตมาด้วยกัน”

ส่วนคุณมนัสกล่าวว่า ผมภูมิใจที่ตั้งแต่ Generation ที่1วางพื้นฐาน ส่วนGeneration ที่ 2 ยิ่งเก่ง และที่น่าภูมิใจที่สุดคือGeneration ที่ 3 ถ้าเป็นที่อื่นอาจตีกันตายหมดเพราะความยิ่งใหญ่ แต่ซีพีไม่มีการตีกัน ไม่มีการแบ่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น วันนี้สิ่งที่ภูมิใจเราจะไปเจน3และจะไป เจน 4 เจน 5 ได้แบบสบาย

ผู้บริหารทั้ง4ท่านยังให้ข้อคิดกับชาวซีพี
โดย ดร.ประทีป กล่าวว่า “ผมว่าธุรกิจของเครือฯวันนี้โชคดีที่สุดแล้วว่าเราอยู่ในธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อปัจจัย4 โดยเฉพาะปัจจัยที่1 คือเรื่องอาหาร เพราะฉะนั้น ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปไว ธุรกิจใหม่ๆที่มีอยู่ไม่ว่าจะเด่นแค่ไหนก็ร่วงไปมาก แล้วก็โดนDisruptไปมาก แต่ธุรกิจของเครือวันนี้เกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ผัก พืช สัตว์ ตรงนี้ที่เรามีอยู่เป็นรากฐานต้องพัฒนาให้เป็น ที่ 1 ของโลกแล้วก็ทำอย่างไรให้เป็น ที่ 1 ต่อไป เพราะตรงนี้เป็นเสาเข็มของเรา แล้วจากตรงนี้จะไปเป็นธุรกิจอย่างอื่นค่อยศึกษาแล้วค่อยดูความเสี่ยงและดูว่าสามารถเจริญเติบโตได้หรือไม่ แล้วค่อยทำ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีธุรกิจหลักที่แน่น แล้วการบริหารจะต้องมีมืออาชีพ มีคนที่เก่ง มีเหตุผลและไม่ใช่เก่งอย่างเดียว ไม่พอ ต้องมีจิตใจตามที่บรรพบุรุษของเราสอนมาคือการเห็นแก่คนอื่น ความเห็นแก่ลูกค้า คุณภาพจะต้องดี ไม่ใช่ว่าเอากำไรอย่างเดียว คนอื่นเป็นอย่างไรไม่สน อย่างนี้ไม่ได้ทำอย่างไรก็ไม่มีทางรอด จะต้องมีมนุษยธรรม ต้องเห็นแก่ส่วนรวม แต่แน่นอนเราต้องกำไร และยิ่งมีมืออาชีพจะต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลักแล้วมีความรับผิดชอบต่อสังคมถ้าเป็นอย่างนี้ผมว่าเครือฯ 100 ปี 200ปี 300ปีก็ยังมั่นคงต่อไป

ส่วนคุณพงษ์เทพฝากว่า ที่ผมอยากจะพูดคือว่าเครือฯ ยังเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับคนที่อยากจะเรียนรู้และอยากจะก้าวหน้า อย่างตัวผมเองอายุ 70 ปี ก็ยังเรียนรู้ทุกวัน

ด้านคุณภัทนีย์กล่าวว่าแต่ละยุคก็ต้องเปลี่ยน แต่ละยุคที่เปลี่ยนต้องรู้ว่าวันนี้องค์กรเป็นอย่างไร แต่องค์กรที่จะขับเคลื่อนไปได้คือคน แต่พูดถึงคนก็ต้องเป็นคนดี และคนดีแล้วจะทำอย่างไรให้มีระบบของบริษัท วันนี้เราจะทำแบบสมัยเถ้าแก่เล็กๆไม่ได้ ทำคนเดียวไม่ได้ การที่จะวางระบบแล้วจะทำให้ได้มาตรฐาน เพราะทุกอย่างต้องเป็น Standard ถึงยุคไหน ปีไหน กี่ศตวรรษ ทศวรรษก็ตาม มันก็ต้องมีคุณภาพ แต่อาจจะเป็นคุณภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จุดนี้ทุกคนต้องเข้าใจ การจะสร้างคนก็ยากจะสร้างคนแต่ละคนให้เข้าใจทั้งในงาน ทั้งเพื่อนร่วมงานและทำงานกับคนอื่นได้ ทุกคนต้องรู้ว่าวันนี้เราอยู่ตรงไหนและจะสร้างคน

ตบท้ายด้วยคุณมนัสกล่าวว่า ทั้งวันนี้และวันหน้า อย่าถามว่าคุณจะได้อะไรจากองค์กรแต่ถามว่าเราจะให้อะไรกับองค์กร ถ้าใครเข้ามาในบริษัทหรือกลุ่มธุรกิจเรา ถ้ามีความตั้งใจแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จ